เลขาธิการ สกศ. ร่วมลงนาม MOU “การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อการมีงานทำ

image

วันนี้ (๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์) เป็นประธานงาน “การบูรณาการการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตใหม่ กิจกรรมแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบ” และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อการมีงานทำ”  โดย เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. อรรถพล สังขวาสี) ร่วมลงนาม พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ


สำหรับ การลงนามบันทึกข้อตกลง ฯ ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดย  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (นายพีรศักดิ์ รัตนะ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย เลขาธิการสภาการศึกษา (นายอรรถพล สังขวาสี) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดย  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (นายประทีป ทรงลำยอง) และสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) โดย  นายกสมาคม (นายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล) ซึ่งทั้งสี่หน่วยงานมีเจตนารมณ์ทร่วมกันที่จะส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อให้มีอาชีพ มีงานทำ ทั้งภายในและต่างประเทศ การร่วมมือและการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้วยการฝึกอบรม Upskill Reskill ตามหลักการของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และอื่น ๆ ตามที่ได้มีการตกลงร่วมกัน

ดร. อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. พร้อมขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดย สกศ. มีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ ๑) ส่งเสริมการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และมาตรฐานสากล ๒) ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และสามารถเทียบเคียงระดับสมรรถนะกับระดับคุณวุฒิที่กำหนดในกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ ๓) ส่งเสริมให้นำหลักสูตรการฝึกอบรมตามกรอบคุณวุฒิมาขึ้นทะเบียนและรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๔) ส่งเสริมให้สถานศึกษา สช. และหน่วยงานในสังกัด สอน. จัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนให้สอดคล้องตามแนวทางการวัดและประเมินสมรรถนะ และ ๕) ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
 


ทั้งนี้ ในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สำเร็จการศึกษาหรือการฝึกอบรมให้มีสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการและตลาดอาชีพ ในส่วนสถานศึกษาหรือสถาบันฝึกอบรมจะมีการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยสอดคล้องกับสภาวการณ์ด้านความต้องการในการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สามารถตอบสนองต่อการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันเป็นกำลังสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด