สกศ. ถกประชาคม Credit Bank รีวิวโมดูลปทุม-นครฯ เสริมแรงจูงใจแจ้งเกิดระดับชาติ

image

     

     วันนี้ (๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) มอบหมายรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานการประชุม "แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและแนวทางการดำเนินงานเครดิตแบงก์ในแต่ละพื้นที่" โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานศึกษาธิการภาค ๒ (ศธภ.๒) จังหวัดปทุมธานี ศธภ.๕ จังหวัดนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ด้วยระบบไฮบริดจ์ประชุมออนไลน์ผ่าน Cisco Webex Meetings 


     ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยการยึดโยงปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป ต้องสร้างให้เกิดความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายโอนและสะสมหน่วยกิต ทำให้ไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบปกติเท่านั้นแต่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน แม้จะยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรับรองที่ชัดเจน แต่การปฏิรูประบบการเรียนรู้ใหม่ด้วยธนาคารสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มีเอกภาพสอดคล้องการพัฒนาประเทศและระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพสูง  


     เป้าหมายระดับสากลของ สกศ. ในเรื่องดังกล่าวคือ การจัดการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงสอดรับระบบ ธนาคารสะสมหน่วยกิต หรือ Micro Credential Credit Bank โดยมุ่งเน้นความสามารถผู้เรียนเป็นตัวตั้ง มีความยืดหยุ่นสูง และไม่จำกัดวัยผู้เรียน ขณะนี้เป็นการจัดการศึกษาที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยทาง สกศ. ได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องสร้างโมเดลต้นแบบขยายผล ๒ แห่ง คือ จังหวัดปทุมธานี ผลักดันจากความร่วมมือจากหลลายภาคส่วนทั้งจาก ศธภ.๒ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหอการค้าจังหวัดปทุมธานี โดย มทร.ธัญบุรี สามารถขับเคลื่อนต่อยอดได้ในกลุ่ม มทร. ๙ แห่ง ๓๖ วิทยาเขต เชื่อมโยงกันด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่วนอีกแห่งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเปิด "ศูนย์ธนาคารสะสมหน่วยกิตนครศรีธรรมราช" ณ วิทยาลัยสารพัดช่างนครศรีธรรมราช ภายใต้แนวทางขับเคลื่อนด้วยกลไกเชิงพื้นที่ในระบบ Credit Bank รองรับผู้เรียนหรือวัยแรงงานสามารถพัฒนาทักษะ Up-Skill/Re-skill ให้เกิดการสะสมความรู้ประสบการณ์ ต่อยอดทักษะและการประกอบวิชาชีพให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น สอดคล้องกับค่าตอบแทนและค่าครองชีพในปัจจุบัน


     ในการอภิปรายแนวทางการขับเคลื่อน Credit Bank นั้น ทาง ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ดร.ปัทมา วีระวานิช นายกสภาสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง ๓ นางภัคชุดา เสรีรัตน์ ผู้แทน ศธภ.๕ รวมถึง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา มีสุข สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มทร.ธัญบุรี ได้หารืออย่างกว้างขวางในหลายประเด็น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือความร่วมมือกับทั้ง ศธภ.๒ และ ศธภ.๕ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและยึดโยงกับสถานศึกษาทุกระดับในเชิงพื้นที่ มทร.ธัญบุรี ใช้รูปแบบการเทียบโอน อบรม Reskill-Upskill-Newskill ได้ใบประกาศนียบัตร และสะสะสมหน่วยกิต Credit Bank เพื่อรับคุณวุฒิปริญญาตรี รายงานความก้าวหน้าระบุมีผู้สนใจลงทะเบียนสะสมหน่วยกิตในสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตของ มทร. ในช่วงปีการศึกษา ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ทั้งสิ้น ๕๑ คน มีหน่วยกิตสะสมแล้ว ๖๒ หน่วยกิต คิดเป็นร้อยละ ๗๗.๕ และมีแนวโน้มผู้สนใจยื่นลงทะเบียนในกลุ่ม มทร. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ศธภ.๕ รายงานเตรียมเปิดศูนย์ธนาคารสะสมหน่วยกิตนครศรีธรรมราช ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ และเร่งขับเคลื่อนสร้างการรับรู้โครงการพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกเชิงพื้นที่ ค้นหาต้นแบบเพื่อขยายผลการดำเนินงาน Credit Bank System  


     ทางด้าน สคช. ย้ำถึงความสำคัญการเชื่อมโยงรายวิชากับสมรรถนะของผู้เรียนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทาง สป.อว. และ สอศ. อยู่ระหว่างผลักดันการแก้ไข/ปรับปรุงให้เกิดความยืดหยุ่นและสอดรับการเทียบโอนและสะสมหน่วยกิต รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชื่อมโยงมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอนาคต อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังมีข้อเสนอแนะสำคัญด้วยว่า ความเชื่อมโยงของธนาคารหน่วยกิตทั้งระบบจะเร่งให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศ ดังนั้นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและยอมรับมาตรฐานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเทียบโอน และต้องมี "หน่วยงานกลาง" ในลักษณะเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโดยตรงและได้ยอมรับจากสังคม เพื่อสร้างให้เกิดความหลากหลายทั้งในเรื่องรูปแบบการประเมิน การเทียบโอนและการดำเนินงาน ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน สามารถเชื่อมโยงการศึกษาได้ทั้งระบบทั้งพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-อุดมศึกษา ทั้งในระบบ-นอกระบบ-ตามอัธยาศัย รวมถึงหน่วยงานนอกการศึกษาด้วย และสร้างความเชื่อมั่น Credit Bank ต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศต่อไป


     ทั้งนี้ การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดเป็นรูปธรรม ทาง อว. ได้ผลักดันและเชื่อมต่อแนวทางขับเคลื่อน สกศ. ในวาระ Credit Bank System ยกระดับเป็นธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank)
ขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพและคุณวุฒิการศึกษา นอกเหนือจากเครือข่าย มทร. ๙ แห่ง ที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องแล้ว ที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) ยังมีมติเห็นชอบการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิก โดยความเห็นชอบของอธิการบดี ๒๕ สถาบัน ร่วมขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมหลากหลายสาขาอาชีพมากขึ้น โดยการประสานความร่วมมือกับสถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น สถาบันฝึกอบรม สถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด