สกศ. เช็กฟีดแบ็กสถานศึกษาเด็กเล็กตามมาตรฐานกลางของชาติ รองรับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรระยะยาว

image

 

          วันนี้ (๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานการติดตามการดำเนินงาน ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) และผู้ทรงคุณวุฒิด้านนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แลกเปลี่ยนร่วมกัน ณ ห้องภาณุมาศ ชั้น ๑๐ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

          ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า แนวโน้มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย สอดคล้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี ๒๕๖๕-๒๕๘๐ ในด้านการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร และการพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร มุ่งสู่เป้าหมายระยะเร่งด่วนให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ พัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง โดยผลักดันให้มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นพื้นฐานการพัฒนาสถานศึกษาทั้งในเมืองและพื้นที่ห่างไกล ให้มีความยืดหยุ่นตามบริบทของพื้นที่ไปพร้อมกัน

          ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ๓ มาตรฐาน คือ ๑) การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการบริหารบุคลากรให้มีอัตราส่วนของครู/ผู้ดูแลเด็กเป็นไปอย่างเหมาะสม ๒) จัดประสบการณ์/พื้นที่การเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัส ลงมือทำ และการเล่น ๓) คุณภาพของเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาตามช่วงอายุ ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา จุดร่วมของหน่วยงานปฏิบัติมีความเข้าใจถึงมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ส่งเสริมทักษะให้ครู/ผู้ดูแลเด็กผ่านการอบรมสร้างความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงดู รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยผ่านพื้นที่การเรียนรู้สนามเด็กเล่น อย่างไรก็ตามพบข้อกังวลจากการถอดบทเรียนของสถานศึกษาต้นแบบ (Good Practice) ๙ แห่ง ปัญหาการขาดแคลนครู/ผู้ดูแลเด็กที่มีคุณวุฒิวิชาชีพตรงสาขาหรือความเชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กปฐมวัย และปัจจัยพื้นฐานในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาพื้นที่ห่างไกล

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าสนใจจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมองตรงกันถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อรับมือการเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชันอัลฟา Alpha (เกิดปี ๒๕๕๓ เป็นต้นไป) อย่างเป็นนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีดิจิทัล และยังมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการระบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีความเหมาะกับคนทุกเจเนอเรชันด้วยบริบทและทุนทางเทคโนโลยีที่ต่างกันเพื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้ ตามข้อมูลแนวโน้มประชากรรวมจะลดลง คาดการณ์ว่าในปี ๒๕๘๐ วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ ๑๔.๓ สวนทางกับกลุ่มผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๘๕ ส่งผลกระทบต่อความกังวลถึงอัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

          หลังจากนั้นร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้หลากหลายแนวทางในการสร้างกลไกกำกับติดตามการดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขของหน่วยงานปฏิบัติระหว่างกระทรวง ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันให้เห็นภาพรวมและปัญหาอย่างทันที (Real Time) โดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นร่างรายงานการติดตามการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยและเผยแพร่เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

 

รูปข่าวเพิ่มเติม >> ข่าวสภาการศึกษา

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด