สกศ. เปิดผลวิจัยความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย เตรียมปั้นโมเดลโรงเรียน อปท. กระจายคุณภาพการเรียนรู้ทั่วประเทศ

image

วันนี้ (๑๔ กันยายน ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ โดยมี ศาสตราจารย์ เป็นประธาน ฯ ร่วมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (นางสาวสุธี อารีย์พงศ์) และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และผ่านการประชุมในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx


 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล เฮงพัฒนา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและนโยบาย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รายงานผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาของท้องถิ่นระดับประถมศึกษาและแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ จากการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้วยผลคะแนน O – net ประถมศึกษาปีที่ ๖ ปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๕,๘๘๓ โรงเรียน และนักเรียน ๕๕๘,๙๐๔ คน พบว่า โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก มีคะแนนเฉลี่ยทุกรายวิชาสูงใกล้เคียงกัน ขณะที่โรงเรียนสังกัด อปท. ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระดับคะแนนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ใกล้เคียงกันในระดับต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เป็นผลวิจัยที่ยืนยันได้ว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่แต่ละภูมิภาคมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการคัดเลือกโรงเรียนสังกัด อปท. ที่มีความโดดเด่นในการจัดการศึกษา มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษา และการลงทุนทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนสังกัด อปท. ทั่วประเทศ


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลของหลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ต่อการพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Short – Term Impact of an Early Childhood Education Intervention in Rural Thailand) ที่ใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๑๙ แห่ง โดยครู ๑๙ คน จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตร “High Scope” ที่เน้นกระบวนการเรียนการสอนเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อการเรียนการสอนหรืออุปกรณ์พิเศษที่มีราคาสูง พบว่าได้ผล SD = ๐.๔ ด้วยการลงทุนเฉลี่ย ๒๘๖ ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ต่อปี ต่อเด็ก ๑ คน ทำให้ประเทศไทยมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ จะต้องพัฒนาปัจจัยที่สำคัญ คือแรงจูงใจในการดำเนินงานการศึกษาของหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เด็กปฐมวัยเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 
.
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา ด้วยการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ จำนวน ๑๐ เป้าหมาย ๕ ตัวชี้วัด เพื่อจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ นำไปสู่การสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกับสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened https://www.facebook.com/media/set?vanity=627180797293850&set=a.6459768794034992

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด