สกศ. ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ตาม NQF

image

วันนี้ (23 เมษายน 2564) ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2564 โดยมีรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการฯ จากองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์

ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนภารกิจกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ด้านการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงาน NQF โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียน/กำลังคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และเร่งดำเนินการใน 3 ส่วน คือ (1) พัฒนาการจัดการศึกษารูปแบบการศึกษานอกระบบ (2) ดำเนินการเทียบหลักสูตรของ สอศ. แต่ละระดับกับมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกระทรวงแรงงาน ซึ่งคัดเลือกอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะดำเนินใน 7 สาขาอาชีพ ได้แก่ 1) โลจิสติกส์โครงการสร้างพื้นฐาน (ระบบราง) 2) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ 5) อาหารและเกษตร 6) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ 7) แม่พิมพ์ และ (3) พัฒนาหลักสูตรของ สอศ. ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพดังกล่าว รวมถึงเร่งดำเนินการเสนอ (ร่าง) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน NQF จำนวน 2 ฉบับ คือ (1) การจัดการศึกษาและการฝึกอบรมตาม NQF และ (2) การเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์ตาม NQF สู่กระบวนการออกประกาศและนำไปสู่การปฏิบัติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาองค์ประกอบความสำเร็จของระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้ฯ และแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ (1) การจัดทำ “แนวทางการพัฒนาระบบการสะสม และเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์ทำงานในรูปแบบระบบแห่งชาติ” (2) การพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนหลักสูตรตาม NQF (3) การเทียบเคียง NQF กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) และ (4) การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนงาน และปลดล็อคปัญหาอุปสรรค 

การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ “การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ” ในการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษาและการอาชีพ และใช้กลไกการเทียบโอนประสบการณ์ด้วยธนาคารหน่วยกิตและการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่สามารถอ้างอิงอาเซียนได้ในอนาคต

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด