พระเกียรติก้องโลกรอบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยูเนสโกยกย่องปฐมบท

image

 

     วันนี้ (๘ เมษายน ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ เรื่อง "พระมหาสมณานุสรณ์ : พระเกียรติคุณในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสกับการศึกษาไทย" โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ประธานเปิดการเสวนาร่วมกับผู้แทนองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ 
  

 

 

     ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา วางพวงมาลัยหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรูปสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) มีการเว้นระยะห่างที่นั่งผู้เข้าร่วมเสวนาโดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line : OEC News สภาการศึกษา เผยแพร่พระเกียรติคุณในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

 


     สกศ. ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์  ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ รองประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๖ และ ดร.เอเทล แอกเนส พี. วาเลนซูเอลา เลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมเสวนา "๑๐๐ ปี การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย : บริบทจากอดีตสู่อนาคต" ปรากฎสาระสำคัญสรุปความนำเสนอดังนี้

 


     

     วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสิ้นพระชนม์สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยมติคณะรัฐมนตรี (๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) เห็นสมควรจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ รัฐบาลไทย และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ร่วมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการสิ้นพระชนม์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พ.ศ. ๒๕๖๔ 

 


     ในการประกาศยกย่องและเฉลิมฉลองวาระครบรอบสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับงานขององค์การยูเนสโก ปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ ๔๐ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๗ หน่วยงาน ประกอบด้วย ๑) กระทรวงศึกษาธิการ ๒) กระทรวงวัฒนธรรม ๓) สำนักนายกรัฐมนตรี ๔) กระทรวงมหาดไทย ๕) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๖) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ๗) กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดนิทรรศการเผยแพร่พระประวัติ วัตรปฏิบัติ และพระกรณียกิจของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ การออกแบบและจัดทำตราสัญลักษณ์ การจัดตั้ง "กองทุนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา" การจัดตั้ง "สถาบันวชิรญาณวโรรส" การจัดนิทรรศการภาพถ่ายพระประวัติและภาพศิลปกรรมเหมือนจริง การเผยแพร่สารคดี เป็นต้น 


     สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาแพ โดยเมื่อปี ๒๔๕๓ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นบุคคลสำคัญของโลก บุคคลที่ ๔ ของคณะสงฆ์ไทยที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


     ตลอดพระชนม์ชีพได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและการศึกษาเป็นเอนกอนันต์ ทรงวางแบบแผนแห่งการบริหารคณะสงฆ์ ทรงวางหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม ทรงพระนิพนธ์หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรบาลีไวยากรณ์ทั้งชุดซึ่งมีหนังสือนวโกวาทเป็นหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจนตราบถึงปัจจุบัน อีกทั้งทรงพระปรีชาสามารถในด้านภาษาต่าง ๆ หลายภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสันสกฤต และภาษาบาลี โดยได้ทรงชำระคัมภีร์บาลีไว้กว่า ๒๐ คัมภีร์ 


     เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริจะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วพระราชอาณาจักร เพราะทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง จึงทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ให้ทรงอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งนี้ ทรงเห็นว่าวัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล การใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษาเป็นทางเดียวที่จะขยายได้เร็วและทั่วถึง เพราะวัดมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในพระราชอาณาจักร ทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการสร้างโรงเรียนด้วย เพราะอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่แล้วนั้นเองเป็นโรงเรียน 


     สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ทรงเลือกพระเถระผู้มีความสามารถทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายรวม ๑๓ รูป เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่าง ๆ แล้วส่งออกไปดำเนินการจัดการศึกษาในหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลนั้น ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร
โดยมีฝ่ายบ้านเมืองคือ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ พระองค์ทรงรับหน้าที่อำนวยการในการจัดการศึกษาหัวเมืองอยู่ ๕ ปี ทรงสามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาขั้นประถมศึกษาออกไปได้ทั่วประเทศ  และเมื่อทรงวางรากฐานการศึกษาในหัวเมืองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วและมีความมั่นคงพอสมควรแล้วทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงธรรมการหรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการต่อไป

 


     ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ในปี ๒๕๖๔ กล่าวได้ว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศไทยโดยมีวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน มีมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นต้นแบบในด้านหลักสูตรและการฝึกหัดครูสำหรับออกไปสอนในโรงเรียนนั้น ๆ ยกย่องเทิดพระเกียรติได้ว่าเป็นปฐมบทต้นแบบการใช้รูปแบบ บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร เพื่อขยายฐานการศึกษาครั้งแรกเริ่มและเป็นแนวทางสำคัญการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยุคแรกในอาณาจักรสยามก็ว่าได้ ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกในทุกด้านทุกประการ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านการปกครอง และด้านการบริหาร เสมือนหยั่งรู้การเปลี่ยนผ่านแห่งอนาคต จึงทรงวางรูปแบบพื้นฐานการศึกษาชาติไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพอย่างยั่งยืน


     ปัจจุบัน ศธ. ดำเนินการจัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี มีสถานศึกษาทั้งหมด ๔.๒๙ หมื่นแห่ง ครู ๕.๑๘ แสนคน บุคลากรทางการศึกษา ๑.๐๒๓ แสนคน รวมทั้งสิ้น ๖.๒๑๒ แสนคน จำนวนนักเรียน ๙.๗๖ ล้านคน โดย สกศ. ในฐานะหน่วยนโยบายและแผนการศึกษาของชาติ เร่งสังเคราะห์ "จุดร่วม" เชื่อมโยงกันระหว่างยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาชาติอย่างเป็นเอกภาพและเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางตอบโจทย์การพัฒนาประเทศสอดรับความเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด