วงเสวนา สกศ. จี้ยึดดัชนีเดียวกัน ก้าวพ้นเขาวงกตคุณภาพการศึกษา ไทย

image

     วันนี้ (๕ เมษายน ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุม เรื่อง 
"คุณภาพการศึกษาไทยสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต" ดำเนินรายการเสวนาโดยผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) ได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักบริหารการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพ ฯ 

 


     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมวิชาการครั้งนี้มีการเว้นระยะห่างที่นั่งผู้เข้าร่วมประชุมภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยสำนักสื่อ
สารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line : OEC News สภาการศึกษา ต่อยอดแนวคิดปฏิรูปการศึกษาไทยขยายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีปกติใหม่ New Normal อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ  

 


     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า 
สกศ. ให้ความสำคัญและส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันระดับนานาชาติ ส่งเสริมการจัดการศึกษาอย่างหลากหลาย พัฒนาการศึกษาที่สามารถตอบสนองประชาชนและการพัฒนาประเทศ สร้างคนไทยที่มีคุณภาพเป็นผู้เรียนรู้ ร่วมสร้างสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตอบโจทย์และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรายจังหวัด


     เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ประการสำคัญ สกศ. พร้อมเป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สังเคราะห์ให้เกิดกรอบชี้วัดกลางเพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพการศึกษาขอวประเทศ สำหรับเครื่องมือ/กลไกสำคัญขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกา คาดจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในวาระ ๒ - ๓ ตามลำดับ ขณะที่ สกศ.  เร่งผลักดันการดําเนินการด้านกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มีการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม ๔ ฉบับ ๑) กฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการศึกษาแห่งชาติ ๒) กฎหมายว่าด้วยสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ
๓) กฎหมายว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ และ ๔) กฎหมายว่าด้วยสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา คู่ขนาน
ไปกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฯ ฉบับใหม่ ทั้งนี้ เพื่อลดช่องว่างการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้ความสำคัญตัวผู้เรียนภายใต้การเปลี่ยนแปลงโลก เร่งปรับหลักสูตร พัฒนาครู รวมทั้งต่อยอดระบบ Big data เตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน โดย สกศ. เป็นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญ 


     "สภาการศึกษาขับเคลื่อนแผน การศึกษาแห่งชาติเชื่อมโยงกับนโยบายท่านตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี ๑๒ นโยบายการจัดการศึกษา ๗ วาระเร่งด่วน เสริมพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายรอบด้าน เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากในยุคดิจิทัล"  ดร.อำนาจ กล่าว


     ในวงเสวนาวิชาการ "คุณภาพการศึกษาไทยสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต" ได้รับการชี้แนะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านมิติคิดผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิต สาขาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ปรากฏสาระสำคัญ หากมองคุณภาพการศึกษาในแง่การจัดการศึกษารายจังหวัดควรมองเรื่องระบบ แต่หากมองในมุมชีวิตและสังคมก็มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ผู้บริหารการศึกษาไม่อาจมองข้ามหรือทิ้งไปได้ 


     หลากหลายมุมคิดคุณภาพการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ปัจจุบันระบบการศึกษาต้องสามารถผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองการพัฒนาประเทศ โดยเป็นการสร้างคนที่มีคุณภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนหลายหน่วยงานกำลังพยายามหาคำตอบจากตัวชี้วัดการศึกษาที่มีมากมาย และบัญญัติไว้ในมาตรา ๕๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่ไม่ได้ถามตัวเด็กว่าเห็นด้วยกับนักการศึกษาในการนิยามความหมายของคำว่าคุณภาพการศึกษา 


     อะไรคือสิ่งที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ ทั้งครู/นักเรียนทุกวันนี้ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะยังไม่สามารถทำได้ตัวชี้วัดการศึกษาที่มีสารพัด กล่าวได้ว่าเป็นการเดินในเขาวงกตคุณภาพการศึกษาที่อาจมุ่งเน้นไปผิดทาง ต้องสร้างทัศนคติใหม่ที่ถูกต้องกระตุ้นความอยากเรียน ต้องทบทวนกันใหม่ทำอย่างไรทุกคนจะมีความสุขกับการจัดการศึกษา และสร้างความชัดเจนเป้าหมายการบรรลุตามดัชนีชี้วัดการศึกษาในทุกระดับ กำหนดเป้าหมายเดียวกันเชื่อมโยงจุดร่วมขับเคลื่อนไปทิศทางเดียวกัน อย่ามัวแต่ท่องจำตัวชี้วัดแต่ลงมือทำกันเสียที


     ประเทศไทยมีพัฒนาการในการจัดการศึกษามาอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จหลายด้าน แต่ยังมีช่องว่างหรือจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ การแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในเวทีโลก และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 


     ดังนั้น การจัดการศึกษาของประเทศไทยควรมุ่งเน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพให้สามารถสนองตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาคุณภาพคนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวยากจน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากระดับคะแนนเฉลี่ย O-NET เด็กไทยมีคะแนนต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ หรือระดับคะแนนเฉลี่ย PISA ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน 


     ผลประเมิน PISA พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทุกด้าน ผลการทดสอบนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพอีกด้วยคือ นักเรียนที่มีสถานะได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลการทดสอบในทุกวิชาดีกว่านักเรียนที่เสียเปรียบ อีกทั้งมีความไม่เท่าเทียมในการจัดการศึกษาเมื่อพิจารณาจากความพร้อม/ไม่พร้อม ด้านครูและเครื่องมือสำหรับจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน

 


     ประการทั้งปวงนำไปสู่ข้อเสนอที่ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาและกระจายอำนาจการศึกษาลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างพื้นที่ โดยปรับระบบบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาระบบประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่ยึดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก รวมทั้งให้การช่วยเหลืออุดหนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา


      การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์คุณภาพการศึกษาที่ดี จึงต้องสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้พื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ทัศนคติ/อุปนิสัย เช่น การใฝ่หาความรู้ ความ อดทน ความรับผิดชอบ ฯลฯ และทักษะในด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนวัตกร ความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะสื่อสารและทำงานเป็นทีม ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว 


     ทั้งนี้ ต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อไปให้ถึงผลลัพธ์การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศด้วย

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด