สกศ. X ศธจ. พัฒนาหลักสูตร NQF สะสม-เทียบโอนธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ
วันที่ 21 เมษายน 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุม “แนวทางการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อสะสมและเทียบโอนธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ” โดยมีผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ผู้แทนสถานศึกษา พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย สกศ.
ดร.นิติ นำเสนอแนวทางการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อสะสมและเทียบโอนในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ใจความสำคัญว่า ปีที่ผ่านมาสำนักงานศึกษาธิการแต่ละจังหวัดมีการเก็บฐานข้อมูลหลักสูตรของแต่ละจังหวัด (Big Data) จากทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาในทุกระดับทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษาและการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อนำมาวางแผนในการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตในทุกระดับจะสำเร็จได้ต้องเปิดใจ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
สกศ. ขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF : National Qualifications Framework) และระบบธนาคารหน่วยกิต แห่งชาติ (National Credit Bank) เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียนที่เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) รวมทั้งช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Zero Drop Out) ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาตามนโยบายหลักของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และนำผลลัพธ์การเรียนรู้มาสะสมและเทียบโอนในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมามีข้อปัญหาอุปสรรค เช่น ขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ขาดการเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ
การประชุมครั้งนี้จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานขับเคลื่อนงานธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม 5 รูปแบบ คือ
1) การเทียบโอนผลการเรียนระหว่างหลักสูตรในระดับการศึกษาเดียวกัน (การศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ การอาชีวศึกษา)
2) รูปแบบการเก็บสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิตแบบไม่มีชั้นเรียน100%
3) การเก็บสะสมหน่วยกิตการศึกษาในระบบ โดยการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า
4) การเก็บสะสมหน่วยกิตคู่ขนาน (Pre Degree) ระหว่างหลักสูตรที่กำลังศึกษากับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า
5) การแปลงประสบการณ์อาชีพเป็นสมรรถนะและหน่วยกิตตามระดับคุณวุฒิแห่งชาติ
สกศ. จะเก็บข้อมูลและติดตามการดำเนินงานของศึกษาธิการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติต่อไป

