บอร์ดอนุกรรมการ กกส. ด้านวิจัย ยกสถิติแข่งขันไทยในอาเซียน แนะสร้างโอกาสการเรียนรู้แบบ Non-Degree

image

วันนี้ (๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายภูมิพัทธ เรืองแหล่) เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุกรรมการ กกส.) ด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ โดยมี ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นประธานอนุกรรมการ กกส. พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา (นางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

ข้อมูลสำคัญจาก UNESSCO แสดงให้เห็นปัญหาของเยาวชน อายุ ๑๕-๒๔ ปี ที่อยู่นอกระบบและว่างงาน มากถึง ๑.๓ ล้านคน โดยสาเหตุหลักคือการตั้งครรภ์ในวัยเรียน เชื่อมโยงไปถึงภาคแรงงานไทย พบว่า มีแรงงานที่อยู่นอกระบบ สัดส่วนร้อยละ ๕๒ ของจำนวนแรงงานทั้งหมด และมีแรงงานราว ร้อยละ ๑๔.๔ ที่เป็นแรงงานฝีมือ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ ๕ รองจากสิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญวิกฤตการขาดแรงงานจากอัตราการเกิดที่ลดลง และยังไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านการศึกษา รวมทั้งทักษะอาชีพ

ผลการดำเนินงานด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษาที่โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ๑) ด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด จัดทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานเพื่อถ่านโอนข้อมูล (Big Data) เพื่อใช้ในระบบฐานข้อมูลทางการศึกษาเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ๒) ด้านการวิจัยทางการศึกษา จัดทำ Research Agenda ทางการศึกษา และมีแนวทางจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Non-Degree ๓) ผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา และ ๔) การจัดตั้งศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งการดำเนินงานพบปัญหาและอุปสรรคสำคัญ คือ ขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากไม่มีผลบังคับใช้และมีผลกระทบน้อย

คณะอนุกรรมการ กกส. ด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา ร่วมตั้งเป้าหมายการดำเนินงานระยะเร่งด่วน ภายใต้แนวคิดการวางระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น เกิดการสร้างโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) โดยเฉพาะผู้เรียนที่ขาดโอกาสหรือหลุดจากระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้หลากหลายตามความถนัดของผู้เรียน แม้อยู่นอกระบบก็สามารถเรียนรู้ได้ ไปพร้อมกับการมีศักยภาพในการแข่งขัน-มีภูมิคุ้มกัน-มีทักษะเอาตัวรอด สอดคล้อง ๑๒ อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (New S-Curve) ของรัฐบาล โดยมี ๕ อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย (ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, การเกษตรและแปรรูปอาหาร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, การท่องเที่ยว) และ ๗ อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย (ดิจิทัล, การแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, อากาศยาน, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา, ป้องกันประเทศ) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเพิ่มเติมทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Human Skills) การเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม และทักษะพร้อมรับพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา (Meta Skills)

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบเรื่องอื่น ๆ อาทิ คำสั่งสภาการศึกษาที่ ๑/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา โดยคณะอนุกรรมการ กกส. ชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมด้านการให้ความเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการศึกษา และหารือสถานการณ์ด้านการศึกษา เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องของต่างประเทศ เพื่อเป็นการทบทวนและถอดบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ

 

ติดตามภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ข่าวสภาการศึกษา : https://www.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.621355679992821

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด