สกศ. ลงพื้นที่วิพากษ์การจัดทำข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย เตรียมพร้อมประเมินรับรองมาตรฐาน จาก UNESCO ปี ๒๕๖๘

image

 

          บ่ายวันที่ (๑ ธันวาคม ๒๕๖๔) ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) นำทีมคณะทำงานและบุคลากรของ สกศ. ศึกษาการบริหารจัดการข้อมูลของสถานศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ จังหวัดเพชรบุรี ลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเพชรบุรี ซึ่งมีระบบจัดการข้อมูลภายในของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน คือ ระบบจัดการข้อมูลเงินอุดหนุน (PSIS) เพื่อคัดกรองข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียนก่อนเข้าสู่ระบบข้อมูลสารสนเทศกลาง (Education Data Center : EDC) โดยพบปัญหาคือหากกรอกข้อมูลผิด สถานศึกษาไม่สามารถแก้ไขได้ทันที จะต้องดำเนินการส่งไปยังต้นสังกัดเพื่อแก้ไขข้อมูลแทน

 

 

          หลังจากนั้นเดินทางไปที่โรงเรียนสุวรรณรังสฤษฎ์วิทยาลัย ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการจัดการข้อมูลที่หลากหลายผ่านระบบของหน่วยงานต้นสังกัดและโปรแกรมที่สถานศึกษาเป็นผู้จัดทำเอง อาทิ ระบบงานทะเบียน โรงเรียนเอกชน (REGIS) ระบบทะเบียนวัดผล ศูนย์บริการการศึกษาเอกชนออนไลน์ (PESO) ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติโปรแกรมคำนวณภาวะโภชนาการ และระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียน ทั้งนี้การบูรณาการระหว่างระบบต่าง ๆ จะมีบุคลากรรับผิดชอบหน้าที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน และให้ความเห็นถึงระบบของหน่วยงานต้นสังกัด สช. มีความเสถียรและช่วยให้การบันทึกข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียนเป็นไปอย่างเรียบร้อย

 

 

          ทั้งนี้ การเยี่ยมชมและเรียนรู้วิธีการจัดเก็บข้อมูลของสถานศึกษาตัวอย่างทั้ง ๒ แห่ง จะเป็นข้อมูลสำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดทางการศึกษาของประเทศไทย ในวันที่ ๒-๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนต่อไป

 

-----------------------------

          วันที่ (๒ ธันวาคม ๒๕๖๔) ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดทางการศึกษาของประเทศไทย” ณ โรงแรม นาน่า รีสอร์ท แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งดำเนินการจัดประชุมภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference)

 

 

          สกศ. ได้รับมอบหมายดำเนินโครงการ World Education Indicators (WEI) ร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics: UIS) โดยรวบรวมข้อมูลสถิติที่สำคัญ และนำข้อมูลจัดทำเป็นตัวชี้วัดทางการศึกษา เพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการมีความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงชี้แจงระเบียบวิธีการเก็บรวบรวมตามกรอบ UIS ที่กำหนดขึ้นใหม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เป็นไปตามการประเมินคุณภาพข้อมูล (The Education Data Quality Assessment Framework : Ed-DQAF) แบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ๑) ระดับโลกที่มีตัวชี้วัดเดียวกัน เช่น ผลการประเมิน PISA ๒) ระดับภูมิภาค และ ๓) ระดับประเทศ โดย สกศ. จะเริ่มรายงานข้อมูลรอบแรกในปี ๒๕๖๘

 

 

          นายสุรชัย คุ้มสมบัติ จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ให้ข้อมูลว่า แผนและการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เป้าหมายที่ ๔ การศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG4) มีตัวชี้วัดที่ยึดโยงแผนแม่บทและแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เป็นหลักตามสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เบื้องต้นอยู่ในขั้นตอนรออนุมัติกรอบการดำเนินงานจากสภาพัฒน์ ก่อนนำไปสู่การนิยามกรอบตัวชี้วัดร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป.ศธ. ผู้รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูล และสกศ. ผู้รับผิดชอบวิเคราะห์ผลข้อมูลต่อไป

 

 

          หลังจากนั้น ช่วงบ่ายที่ประชุมแบ่งกลุ่มอภิปรายอย่างเข้มข้นถึงการจัดทำข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ภายใต้โครงการ WEI 2022 ตามมาตรฐาน ISCED 2011 ๕ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ ข้อมูลนักเรียนและครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มที่ ๒ ข้อมูลนักเรียนและครูระดับอุดมศึกษา กลุ่มที่ ๓ ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ ๔ ข้อมูลด้านงบประมาณ และกลุ่มที่ ๕ ข้อมูลหลักสูตร

 

 

          การประชุมในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำเป็นตัวชี้วัดทางการศึกษา และจัดเก็บข้อมูลให้เป็นไปตามแบบจัดเก็บของ WEI ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และมีมาตรฐานข้อมูล ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลในฐานของ (UNESCO Institute for Statistics: UIS) ในการเปรียบเทียบกับนานาชาติ สำหรับการวางแผนและพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป

 

 

-----------------------------

          วันนี้ (๓ ธันวาคม ๒๕๖๔) ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ร่วมสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดทางการศึกษาของประเทศไทย” ณ โรงแรม นาน่า รีสอร์ท แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งดำเนินการจัดประชุมภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)

 

 

          คณะทำงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกันอภิปรายการจัดทำข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ต่อเนื่องภายใต้ประเด็นการจัดทำดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๓ โดย สกศ. (ดร.จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร) ชี้แจงการศึกษาดังกล่าวผสมผสานด้วยกรอบการทำงาน ๓ มิติ ได้แก่ ๑) สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ๒) บุคคลหรือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ๓) ผลของการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือสมรรถนะที่คาดหวังที่เกิดการเรียนรู้ โดยเป้าหมายหลักคือเป็นดัชนีการศึกษาที่สามารถติดตามความก้าวหน้าของทุกจังหวัดภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

 

 

          หลังจากนั้น เดินทางเยี่ยมชมการบริหารจัดการข้อมูลทางการศึกษาของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายชูศักดิ์ ประเสริฐ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบการจัดเก็บข้อมูลในสังกัดของจังหวัดเพชรบุรีทั้งหมด ใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center) จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหลัก ซึ่งสะท้อนข้อเสนอแนะเรื่องแบบจัดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานยังไม่ตรงกัน ทำให้การบูรณาการข้อมูลยังไม่สามารถทำได้ และฐานข้อมูลส่วนกลางยังไม่เป็นปัจจุบัน (Real Time)

 

          การประชุมลงพื้นที่เชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้รับข้อเสนอแนะเพื่อใช้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาต่อไปในปี ๒๕๖๕ ควบคู่ไปกับติดตามการประเมินเป็นประจำทุกปี และมุ่งให้แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๘ เพื่อเข้าร่วมการประเมิน ฯ รับรองมาตรฐานของสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics: UIS) และใช้วางแผนพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด