สกศ. ร่วมติดตามงาน นักวิจัย : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการศึกษาเรียนรู้แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย กรณี ครูพิมพา มุ่งงาม ครูภูมิปัญญาไทย ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ระดับอินเตอร์

image

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ โดย นายสำเนา เนื้อทองและคณะทำงาน ได้ติดตามการดำเนินงานเก็บข้อมูลเบื้องต้นของ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง  “แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรมในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน”  ซึ่งการศึกษานี้สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) นำเสนอแนวทางการเพิ่มศักยภาพครูภูมิปัญญาไทย ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม ที่มีผลงานโดดเด่น สามารถเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยได้ ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการถ่ายทอดสืบสานองค์ความรู้ และด้านการพัฒนาต่อยอดอาชีพ
 
 
ในการศึกษาวิจัยนี้ ดำเนินการศึกษาใน ๔ ศูนย์ จาก ๔ ภูมิภาค รวมถึงติดตามการขยายผลถ่ายทอดความรู้ของแต่ละศูนย์  ซึ่งในวันนี้ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการเก็บข้อมูลเบื้องต้น โดยการสัมภาษณ์ ครูพิมพา  มุ่งงาม  ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙  ด้านเกษตรกรรม จังหวัดยโสธร ผ่านการประชุมในระบบ Zoom  เนื่องจากข้อจำกัดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19)  
 
ครูพิมพา มุ่งงาม เป็นเกษตรกรต้นแบบที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ จนสามารถปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ ๑๐๐ %  ผลิตผลที่โดดเด่น คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งส่งจำหน่ายต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับขององค์การ Fair Trade Original (ขบวนการส่งเสริมการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน) นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาข้าวสู่การทำ “ชาจากข้าว” และเน้นการทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิด อนุรักษ์วิถีการทำนาแบบดั้งเดิม เพราะช่วยลดต้นทุน  อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ทำให้ “บ้านดวน” เป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของประเทศไทย  
           
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้สัมภาษณ์เครือข่ายของครูพิมพา ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาที่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้จากครู ซึ่งทั้งหมดสามารถนำสิ่งที่ครูถ่ายทอดไปพัฒนาการปลูกข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นักเรียน นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การแปรรูปอาหาร การเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สำหรับการเก็บข้อมูลทั้ง ๔ ศูนย์  ๔ ภูมิภาค ศูนย์ของครูพิมพา มุ่งงาม นับเป็นศูนย์ที่ ๒  โดยในภาคเหนือได้มีการดำเนินการเก็บข้อมูลของครูสุทิน ทองเอ็ม จ.สุโขทัย ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการ และการแปรรูปไผ่ เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา  และจะดำเนินการเก็บข้อมูลการดำเนินงานของครูบุญลือ  เต้าแก้ว ซึ่งมีความโดดเด่นในการทำไร่นา สวนผสม และครูดอเล๊าะ สะตือบา จ.ยะลา ซึ่งประสบความสำเร็จในการปลูกสละและทุเรียน มีชื่อเสียงจนถึงต่างประเทศ ในลำดับต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด