สกศ. จัดการประชุมติดตามหนุนเสริมเติมพลัง ครั้งที่ 3 มุ่งนำมาตรฐานการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติ ด้วยนวัตกรรมการบริหารจัดการ

image

วันนี้ (15 กรกฎาคม 2564) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ จัดการประชุมติดตามหนุนเสริมเติมพลัง คณะทำงานพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการในการนำมาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติ ในรูปแบบออนไลน์ ครั้งที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาและคณะทำงานในโครงการฯ ได้นำเสนอผลการเก็บข้อมูล และ (ร่าง) รายงานการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อสังเกต เติมเต็มเพื่อการพัฒนารายงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่
      1. ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกของ สมศ. และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 2. ศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหลักสูตรและการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษา

    3. ดร.ทรงพร พนมวัน ณ อยุธยา  ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการประเมินเกณฑ์รางวัล OBECQA โรงเรียนมาตรฐานสากล สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สพฐ.

4. ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์  ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา และการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเชิงรุก ผู้ร่วมพัฒนาเครื่องมือโครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ


การประชุมครั้งนี้ ดำเนินการแบบ รวม-แยก-รวม รวม 1 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจวัตถุประสงค์แนวทางการประชุมร่วมกัน จากนั้นแยกออกเป็น 4 กลุ่มย่อยตามประเด็นการพัฒนา พื้นที่ และอื่นๆ เช่น โรงเรียนที่ใช้แนวคิด OKRs เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรม เป็นต้น โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ท่านจะช่วยเติมเต็มให้ในกลุ่มย่อย จากนั้นรวมตัวกันเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดีๆ ในกลุ่มใหญ่อีกครั้ง จากการประชุมในครั้งนี้ส่งผลให้สถานศึกษา และคณะทำงานได้รับแนวคิดการพัฒนากระบวนการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม การถอดบทเรียน การนำเสนอความคิดรวบยอด (concept) รูปแบบ (model) กลไกการพัฒนา รวมถึงปัญหาอุปสรรค ที่สามารถเชื่อมโยง ส่งต่อสู่การพัฒนาสถานศึกษาอื่นๆ ในเครือข่าย หรือมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และบริบทใกล้เคียงกัน 

“เราดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยด้วย 3 ช. คือ 
“ ชื่นชม ” สิ่งดีๆที่โรงเรียนร่วมกันดำเนินงานมา 
“ ชวนคิด ” ชี้ชวนให้โรงเรียนคิดสกัด เลือกจุดเด่นของโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทและสร้างเสริม DOE อย่างแท้จริง และ 
“ เชื่อมโยง ” เชื่อมโยงนวัตกรรมการบริหารจัดการสู่งานในส่วนต่างๆ ของโรงเรียนและชุมชน”  ศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์ กล่าว

ส่วนนายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาฯ กล่าวถึงนวัตกรรมการบริหารจัดการโดยใช้แนวคิด OKRs ว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 (สันป่าก่อ) เชียงรายสะท้อนให้เห็นว่า การใช้แนวคิด OKRs ในการบริหารจัดการทำง่ายกว่าแบบเดิม เป็นงานที่ทำแล้วจบเป็นเรื่องๆ ตอบวัตถุประสงค์ชัดเจน โรงเรียนทำงานง่ายขึ้น สกศ.จึงหวังว่า OKRs จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะลดภาระงานของครูและโรงเรียน” โครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัตินี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานวัตกรรมการบริหารจัดการที่ส่งผลในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายบริบท และพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา เพื่อสร้างผู้เรียนที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของการศึกษา (DOE) 3 ด้าน คือ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์ และพลเมืองที่เข้มแข็ง ใช้คุณธรรม และค่านิยมร่วมเป็นฐานในการพัฒนา โดยมีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 11 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค 6 จังหวัด ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้จะนำสู่การปฏิบัติเพื่อขยายผลแก่โรงเรียนเครือข่ายของโครงการระยะที่ 2 และสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนและยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด