เลขาธิการ สกศ. นำสื่อลงพื้นที่ศึกษาการจัดการศึกษาสำหรับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ จ. ตาก

image

เมื่อระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) พร้อมด้วย นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ นางสาวสุวีณา เกนทะนะศิล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โรงเรียนบ้านหัวฝาย โรงเรียนสรรพวิทยาคม และศูนย์การเรียนรู้ปารมี จังหวัดตาก เพื่อศึกษาการจัดการศึกษาสำหรับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ยังเดินทางติดตามการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่บ้านพักนักเรียนต่างด้าวระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา


ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่ว่า จากการติดตามสภาพการจัดการศึกษา ของโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่ามีเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ๒ ประเภท คือ ๑) กลุ่มเด็กไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ หรือไม่มีสัญชาติไทย ที่ตามพ่อแม่มาทำงานและอาศัยอยู่ในไทย และ ๒) กลุ่มเด็กที่เดินทางมาเรียนแบบไปกลับระหว่าง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา มาเรียนที่แม่สอด นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กกว่าหมื่นคนได้เข้าเรียนกับศูนย์การเรียนขององค์กรเอกชน ที่ตั้งกระจายอยู่ ๕๙ ศูนย์ ขณเดียวกันยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในวัยเรียนที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงาน แต่ไม่ได้เรียนหนังสือ

 

ดร. ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะประเทศไหนเข้ามาก็จะได้รับสิทธิเข้าเรียนทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ครอบคลุม ๔ เรื่อง คือ สิทธิในการอยู่รอด, สิทธิในการปกป้อง คุ้มครอง, สิทธิในการได้รับการดูแลและพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม โดยในส่วนของการศึกษา จะอยู่ที่สิทธิในการได้รับการดูแลและพัฒนา ซึ่งเด็กทุกคนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทย จะได้รับสิทธิเหมือนเด็กไทยทุกประการ ตามมาตรฐานการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งตัวเด็ก ที่จะรับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และประเทศไทยก็จะได้คนที่มีคุณภาพมาทำงาน รวมถึงสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ จากตัวเลขเบื้องต้น เห็นว่าต้องมีการปรับกระบวนการจัดการศึกษาใหญ่มาก เช่น ในพื้นที่ อ.แม่สอด มีเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ กับเด็กที่เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนของเอกชนหมื่นกว่าคน ถ้าส่งให้เรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.หรือให้ศูนย์ กศน. รับไปทันทีอาจจะมีปัญหา เราต้องคิดรูปแบบที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้อยู่ในจังหวะที่รัฐบาลปรับพื้นที่ชายแดนให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 

 

“สกศ. จะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาว่าจากสภาพปัจจุบันถ้าจะทำให้ได้ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้โอกาสเด็กทุกคนได้เรียนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังควรทำอย่างไร เช่น การลงทะเบียนเด็กทุกคน เพื่อใส่ในฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าของ ศธ.ทำอย่างไร จะมีรูปแบบในการที่จะจัดโอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับแต่ละกลุ่มนี้อย่างไร และจะมั่นใจในเชิงมาตรฐานคุณภาพอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันในหลายหน่วยงาน” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว


   ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่ 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด