รองเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ ๕๗ ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ วันที่ ๒

image

        ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ นำคณะผู้แทนประเทศไทยร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ ๕๗ ของสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (57th General Assembly of the International Association for the Evaluation of Education Achievement: 57th IEA GA) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

        สรุปสาระสำคัญจากการประชุมวันที่ ๒ ได้ ดังนี้

        ๑. โครงการศึกษาแนวโน้มการศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) เริ่มรอบการประเมินครั้งใหม่ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ซึ่งการประเมิน TIMSS 2019 จะเริ่มนำการประเมินระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้และตามเป้าหมายของสมาคมนานาชาติ เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (IEA) คือจะทำการเปลี่ยนระบบการประเมิน TIMSS มาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในปี ๒๐๒๓ ประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมิน TIMSS มาเป็น eTIMSS คือ 

            ๑.๑  ประโยชน์ต่อผู้รับการประเมิน จะได้ทำแบบประเมินที่น่าสนใจมากขึ้นด้วยภาพและสีสันที่ดึงดูด และสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุเพื่อคิดคำนวณหรือตอบโจทย์ปัญหาได้เสมือนลงมือปฏิบัติจริง

            ๑.๒ ประโยชน์ต่อผู้ประเมิน (ผู้เก็บข้อมูลการประเมิน) สามารถเก็บข้อมูลการใช้งาน กระบวนการคิดและกระบวนการแก้ปัญหาของนักเรียนผู้รับการประเมินได้ จากการใช้งานเครื่องมือการคำนวณ อาทิ เครื่องคิดเลข และไม้บรรทัด ที่อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนผู้รับการประเมินในโปรแกรม eTIMSS ด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้กระบวนการให้คะแนนของการประเมินยังเหมือนเดิม คือ คะแนนจะได้มาจากกระบวนการและขั้นตอนการคำนวณและการแก้ปัญหาในแต่ละขั้นตอนมากกว่าแค่คำตอบสุดท้าย

            ๑.๓ ประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกและโลกด้านงบประมาณและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ใช้งบประมาณในกระบวนการจัดทำและแผนแบบประเมิน และลดการรใช้ทรัพยากรกระดาษลง

        อย่างไรก็ดี eTIMSS ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา โปรแกรมปัจจุบันจะสามารถใช้ได้บนฐานของ Windows และ Android เท่านั้น ยังไม่สามารถรองรับในหลากหลายแพลตฟอร์ม (Windows/Mac/iOS/Android) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญกับประเทศสมาชิกหลายประเทศ เช่น แคนาดาที่โรงเรียนใช้ Mac เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งประสบการณ์ของนักเรียนในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกันที่อาจส่งผลกระทบต่อการประเมิน จากการนำร่องในสิงคโปร์พบว่า แม้โปรแกรมจะมีเครื่องมือการคำนวณต่างๆ มาให้แล้ว นักเรียนยังต้องการการทดเลขและขีดเขียนบนกระดาษ ซึ่งนั่นอาจส่งผลต่อการเก็บข้อมูลและให้คะแนนกระบวนการคิดคำนวณของนักเรียนได้ 

        ๒. ความก้าวหน้าโครงการศึกษาความก้าวหน้าการรู้เรื่องการอ่านระหว่างประเทศ (Progress in International Reading Literacy Study: PIRLS) ในปี ๒๐๑๖ เป็นรอบการประเมินที่ ๔ ของ PIRLS ซึ่งขณะนี้ได้ทำการดำเนินการเก็บข้อมูลและจัดทำร่างรายงานการประเมินผลรอบแรกไปแล้ว โดย PIRLS 2016 Encyclopedia จะเผยแพร่ในเดือนตุลาคม ๒๐๑๗ และรายงานการประเมิน PIRLS และ ePIRLS ฉบับสมบูรณ์จะเผยแพร่ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๐๑๗ นอกจากนี้ IEA ได้รายงานถึงการพัฒนาการประเมิน TIMSS และ PIRLS อย่างง่าย เรียกว่า LaNA: Literacy and Numeracy Assessment) ขึ้นเพื่อใช้ประเมินกับประเทศที่เห็นว่า TIMSS และ PIRLS ยากเกินไป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการนำร่องในหลายๆ ประเทศ

        ๓. ความก้าวหน้าโครงการการศึกษาการรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และข้อมูลระหว่างประเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICILS) สำหรับ ICILS 2018 เป็นการประเมินรอบที่ ๒ ของ ICILS (รอบแรกคือ ICILS 2013) สิ่งที่พัฒนามากขึ้นคือ การประเมินนักเรียนด้านข้อมูลติจิตัล (Digital Information Literacy: DIL) และการประเมินทักษะการประมวลผล (Computational Thinking: CT) ซึ่งจะเป็นการประเมินความรู้ข้อมูลฐานคอมพิวเตอร์ การจัดการและการสื่อสารภายใต้สภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ถูกควบคุม นอกจากนี้ยังประเมินรูปแบบการใช้ความคิดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือพัฒนาเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งมีประโยชน์ในการพัฒนาความคิดที่ซับซ้อนและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ ในการวิเคราะห์และให้คะแนนจะพิจารณาว่า ๑) นักเรียนสามารถตอบได้ถูกต้องหรือไม่ ๒) กระบวนการแก้ปัญหาสามารถใช้คำสั่งได้ดีหรือไม่ (คำสั่งมากหรือน้อย) ความคงเส้นคงวาของกระบวนการแก้ปัญหา ๓) การประยุกต์การใช้คำสั่ง

        ๔. ความก้าวหน้าโครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองของ IEA (IEA International Civic and Citizenship Education Study: ICCS) สำหรับ ICCS 2016 มีการเปลี่ยนแปลง คือ 

            ๔.๑ ในด้านเนื้อหาด้านจิตพิสัย (affective-behavioral domains) เพิ่มเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในโรงเรียน และการใช้สื่อทางสังคมของนักเรียน 

            ๔.๒ เน้นความตระหนักด้านเศรษฐกิจ (economic awareness) จริยธรรม (morality) และการเคารพกฎเกณฑ์ (rule of law) มากขึ้น

            ๔.๓ ความเป็นพลเมือง เช่น ความรู้สึกเป็นเจ้าของในโลกใบนี้ร่วมกัน และเรื่องมนุษยธรรม 

        แผนการในอนาคตของ ICCS คือ ICCS 2019 มีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือกับองค์การนานาชาติ อาทิ UNESCO APCEIU, LMTF และ OECD เป็นต้น ในเรื่องการวัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Education: GCED) และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) เน้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจนถึงปี ๒๐๓๐

        ในการนี้ คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าโลกแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องการคนที่มีทักษะและสมรรถนะด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นการพัฒนากระบวนการคิดประมวลผล คิดวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ และในขณะเดียวกันความเป็นพลเมืองโลกก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อให้คนในศตวรรษที่ ๒๑ สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข  

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด