สกศ. ระดมพันธมิตรร่วมจัดทำกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลการศึกษาไทย

image

 

          การประชุมเชิงปฏิบัติการ "การจัดทำกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลการศึกษาของประเทศไทย" ระหว่างวันที่ ๑ - ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ที่โรงแรม The River Life Resort จังหวัดกาญจนบุรี จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หารือร่วมกับผู้แทนองค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปิดฉากลงด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อต่อยอดพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นเอกภาพ 

 


          นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ. พร้อมคณะผู้รับผิดชอบงานด้านข้อมูลและสถิติจากผู้แทน ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสมองศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์สภาพการบริหารข้อมูลการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นตลอด ๓ วัน เพื่อจัดทำแนวทางการประเมินคุณภาพข้อมูลการศึกษาของไทยที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย

 

 


          ดร.ขจรพงษ์ อัครจิตสกุล ผู้แทน มจธ. กล่าวว่า ภาครัฐได้กำหนดสิทธิ หน้าที่ อำนาจ ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบัน รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ ศธ. ได้แก่ นโยบายและกรอบของกฎหมาย ความเพียงพอของทรัพยากร ความตระหนักถึงคุณภาพ ความเป็นมืออาชีพ ความโปร่งใสและมาตรฐานด้านจริยธรรม ภายใต้กรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลการศึกษา ประกอบด้วย ๓ เสาหลัก ๘ หลักการ ๔๖ หัวข้อ

 


          ด้าน นางนนทุลี สิริปัญญาวิทย์ นักวิชาการสถิติ สสช. กล่าวว่า สถานการณ์สถิติทางการในปัจจุบันจัดทำขึ้นจากหน่วยงานสถิติหลากหลายหน่วยงาน มีความหลากหลายทั้งวัตถุประสงค์ ขอบเขต วิธีการจัดเก็บ การวิเคราะห์ และการนำเสนอที่เหมือนและแตกต่างกันตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน สสช. มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนางานมาตรฐานสถิติไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการจัดจำแนกมาตรฐานคำนิยาม มาตรฐานคำถาม เป็นต้น 

 



          รวมถึงการส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติในหน่วยสถิติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมาตรฐานการจัดจำแนกควรพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ มีความหมาย ครบถ้วนสมบูรณ์ และมีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความเป็นไปของสังคมอย่างชัดเจน ครบถ้วน สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเป็นกรอบการทำงานสำหรับการเก็บข้อมูลที่มาจากการสำรวจหรือจากการบริหารงาน


          ปัจจุบันผู้ใช้ข้อมูลในกลุ่มอื่น ๆ เช่น ภาคเอกชน ภาคสังคม หรือภาคประชาชนต่างเห็นความสำคัญและประโยชน์ของข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากสามารถพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน การวางแผนการใช้ชีวิตในเมือง ไปจนถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสภาวะอากาศ จากประโยชน์ดังกล่าวทำให้ทุกวันนี้ข้อมูลได้ถูกจัดทำเพิ่มขึ้นมากมายตามความต้องการใช้ โดยข้อมูลอาจมีวัถุประสงค์ แนวคิด คำนิยาม การจัดจำแนก วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมือนหรือแตกต่างกัน

 

 


          อย่างไรก็ตาม สกศ. จะนำข้อเสนอที่ได้จากการพิจารณากรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล สอดคล้องกับตัวชี้วัดและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในฐานข้อมูลของ UNESCO Institute for Education : UIS ในการเปรียบเทียบกับนานาชาติสำหรับการวางแผนและพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด