กอปศ.เดินหน้าวิจัยและพัฒนาเตรียมจัดทำกรอบสมรรถนะเด็กประถมต้น

image

        วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๙/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม  การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา “โครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นสำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน”  “โครงการอิสระคิด เนรมิตปฏิรูปการศึกษา” และข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษา “แนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา”

       ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และสำนักงานคณะการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นสำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อเสนอให้กับทางกระทรวงศึกษาได้พิจารณานั้นเป็นเรื่องสวัสดิการของครูเอกชน ภาษีที่ดินของโรงเรียนเอกชน การจ้างครูต่างประเทศ โรงเรียนนานาชาติ และการเปิดอนุบาลสามขวบ

       ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า วันนี้มีเรื่องที่พิจารณาสำคัญหลายเรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่การจัดกรอบสมรรถนะ  เรื่องที่สองเป็นโครงการอิสระคิดฯ เพื่อระดมให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา และเรื่องบทบาทของโรงเรียนเอกชนในการจัดการศึกษา ในส่วนของการเรียน ๘ กลุ่มสาระ ทำให้เกิดการสอบเข้าโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และทำให้เด็กอนุบาลต้องไปกวดวิชาเพื่อจะสอบเข้า ป.๑ ให้ได้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ควรจะให้เด็กมีทักษะในการใช้ชีวิต รู้จักความเป็นมนุษย์ รู้จักตัวเอง อนาคตสามารถพัฒนาชีวิตของตัวเองได้ มีสุขภาพที่ดี ทั้งหมดนี้ คือ สมรรถนะ ไม่ใช่องค์ความรู้ กอปศ.จึงพยายามจะปรับเรื่องนี้ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งตอนนี้ได้มีมติให้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะฯ หลังจากนั้นจะไปนำร่องในโรงเรียนต่างๆ เพื่อดูว่าแต่ละโรงเรียนทั้งรัฐ โรงเรียนเอกชน ฯลฯ มีปัญหาแตกต่างกันอย่างไร เพื่อหาแนวการจัดการ

       รศ.ทิศนา แขมมณี กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวโดยสรุปว่า เรื่องที่เราคิดและกำลังจะดำเนินการเป็นโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นสำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากการรับฟังความคิดเห็น พบว่า มีผู้เห็นด้วยจำนวนมากว่าหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ.ในระดับชั้น ป.๑-๓ กำหนดสาระการเรียนรู้ถึง ๘ สาระ รวมถึงตัวชี้วัดที่มีจำนวนมากเกินไป  ทำให้ครูต้องเร่งสอนเพื่อให้เด็กสอบให้ได้ ทำให้เด็กไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ซึ่งเด็กในวัยนี้เป็นเด็กที่อยู่ระหว่างรอยเชื่อมต่อของเด็กชั้นปฐมวัยกับชั้นประถมศึกษา ถือเป็นช่วงที่เด็กเตรียมพร้อมและมีการปรับตัว ดังนั้นการเรียนการสอนต้องมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างของเด็ก จึงมีแนวคิดให้ปฏิรูปหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนให้ตอบสนองต่อผู้เรียน จึงต้องวางรากฐานให้ผู้เรียนในยุคใหม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตได้  จึงเกิดโครงการวิจัยนี้ขึ้นมา เพื่อให้ได้กรอบสมรรถนะผู้เรียน โดยเริ่มจากประถมศึกษาตอนต้น ทั้งนี้หวังว่าชุดสมรถนะนี้หากมีการนำไปทดลองใช้ให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนจะเป็นต้นแบบที่จะนำไปดำเนินการในเด็กระดับชั้นอื่นๆ ต่อไป  

        ดร.ภัทรียา สุมะโน ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคม กล่าวโดยสรุปว่า โครงการอิสระคิด เนรมิตปฏิรูปการศึกษา หรือ Young ICER Award เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียน นักศึกษา ในการร่วมการปฏิรูปการศึกษา เป็นการประกวดคลิปวีดีโอประมาณ ๓ นาที โดยเนื้อหาของวีดีโอที่ส่งประกวดจะต้องเกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะได้เห็นมุมมองของเด็กว่าเด็กต้องการการศึกษาแบบไหน ทั้งนี้การประกวดจะเริ่มประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ส่วนรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบทาง www.thaiedreform.org อีกครั้ง

       นางเพชรชุดา เกษประยูร กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาเอกชนแบ่งเป็นการศึกษาเอกชนสายสามัญและเอกชนที่เป็นอาชีวะ มีนักเรียนอยู่ในระบบนี้ประมาณ ๒.๕ ล้านคน คิดเป็นการศึกษาเอกชนสายสามัญ ๒๒ % ปวช. ๓๒% เมื่อเทียบกับนักเรียนที่เรียนโรงเรียนของรัฐ ใน World Education Forum วัดว่าประเทศไหนมีศักยภาพในการแข่งขัน จากคุณภาพการศึกษาของระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งการศึกษาของเอกชนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนอยู่ในระดับสูงกว่าโรงเรียนของรัฐ แต่ต่ำกว่ากลุ่มโรงเรียนของสาธิต ในช่วง ๙ ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนมีเด็กเพิ่มขึ้น แต่งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนให้เอกชนเป็นรายหัวนั้นมีไม่เพียงพอ จึงได้มีการพิจารณาบทบาทของโรงเรียนเอกชนในสังคม พบว่า โรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือกของการศึกษา เป็นกลไกตลาดคอยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการดูแลเด็กด้อยโอกาส ผู้พิการ ฯลฯ ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนเอกชน คือ ครูลาออกทุกครั้งที่มีการประกาศรับสมัครบรรจุครู ทำให้โรงเรียนเอกชนเสียบุคลากร นอกจากนี้ยังได้นำเสนอประเด็นปฏิรูปโรงเรียนเอกชน ๔ ประเด็น ๑ ) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยให้เด็กทุกคนมีสิทธิเลือกเรียนในโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างเท่าเทียมกัน  ๒) โรงเรียนเอกชนต้องเป็นกลไกส่งเสริมคุณภาพการศึกษาและลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ๓) ปฏิรูปบทบาทของรัฐในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบการโรงเรียนเอกชน ๔) เพิ่มบทบาทของโรงเรียนเอกชนในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด