สกศ. หารือแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ

image

 

 

          วันนี้ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเรื่อง “แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของหน่วยงานที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙”  โดยมี ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุม  ณ ห้องกำแหง  พลางกูร  สกศ.

 

 

            ดร. ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์  กล่าวโดยสรุปว่า การประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้รับผิดชอบด้านนโยบายและแผนการศึกษาของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมปรึกษาหารือในการจัดทำหรือปรับแผนพัฒนาการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงและไปในทิศทางเดียวกัน กับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙  ทั้งนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติปัจจุบันมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒  ดังนั้นในการจัดทำแผนของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงระดับภาคซึ่งแบ่งได้เป็นภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ภาคใต้  และภาคใต้ชายแดน จึงควรปรึกษาหารือในการดำเนินงานตามแผนให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยง ทำให้แผนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

 

 

 
   
   
   
   
   
   
   

 

            แผนการศึกษาแห่งชาติฯ ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ดังนี้ 

            ๑) การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ๒) การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ๓)  การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  ๔) การสร้างโอกาส  ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ๕) การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และ ๖) การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา  

            แผนการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมาย ๕ ประการ และแต่ละเป้าหมายกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละช่วงปี ซึ่งในปีที่ ๑ – ๕ กำหนดตัวชี้วัดไว้ คือ เป้าหมายที่ ๑ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา  เช่น  สัดส่วนนักเรียนปฐมวัย (๓-๕ปี)  ต่อประชากรกลุ่ม ๓ – ๕ ปี เพิ่มขึ้น ๙๐ %  ประชากรอายุ ๑๒ – ๑๔ ปี ได้เข้าเรียนระดับ ม.ต้นหรือเทียบเท่าทุกคน ฯลฯ  เป้าหมายที่ ๒ ความเท่าเทียมทางการศึกษา  เช่น  ผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการศึกษา ๑๕ ปี ร้อยละ ๑๐๐ ฯลฯ  เป้าหมายที่ ๓ คุณภาพการศึกษา เช่น การอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ ๘๕   ผลคะแนน PISA เฉลี่ยของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี เพิ่มขึ้นเป็น ๕๐๐ คะแนน  ฯลฯ เป้าหมายที่ ๔  ประสิทธิภาพ เช่น มีฐานข้อมูลด้านการศึกษา ฐานข้อมูลรายบุคคลด้านการศึกษา  อัตราเด็กออกกลางคันลดลง มีระบบเครือข่ายดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ เป้าหมายที่ ๕  การตอบโจทย์บริบทที่มีการเปลี่ยนแปลง  เช่น ร้อยละของโรงเรียนที่จัดการศึกษา STEM ศึกษา เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ ๓๐  สัดส่วนอาชีวศึกษา : สามัญศึกษา เป็น ๔๕ : ๕๕ ฯลฯ 

            ปัจจุบันการดำเนินงานในแต่ละภาคมีจุดเน้นต่างกัน การวางแผนพัฒนาการศึกษาของแต่ละภาคจึงจำเป็นต้องแตกต่างกันตามจุดมุ่งเน้นของแต่ละภาค  เช่น ภาคเหนือ เน้น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง” ได้แก่ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นวัตกรรมเกษตรและอาหารสุขภาพ  การค้าการบริการสี่แยกอินโดจีน ฯลฯ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้น “หลุดพ้นจากความยากจนสู่เป้าหมายพึ่งตนเอง” รวมทั้งเป็นศูนย์กลางข้าวหอมมะลิโลก ปศุสัตว์ เมืองนวัตกรรมเกษตรอาหาร ฯลฯ ภาคกลาง “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ” เป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมสีเขียว ประตูสู่อาเซียน เป็นเมืองนวัตกรรม ศูนย์กลางสินค้าเกษตร ศูนย์กลางประมงแปรรูป ฯลฯ ภาคตะวันออก เน้น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ” เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสะอาดและศูนย์กลางผลไม้ออกแกนิค  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ฯลฯ ภาคใต้ เน้น “ฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย” เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลก  ศูนย์กลางการค้ายางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้  ภาคใต้ชายแดน เน้น “พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคง” เป็น Food Innopolis ฐานอุตสาหกรรมเกษตรภาคใต้ ประตูสู่อาเซียนตอนใต้  

 

 

 
   

            ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ได้นำเสนอ ๙  Step เคล็ดลับในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ๑) ลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดในแต่ละเป้าหมาย  คือ คิดว่าอะไรควรทำได้ก่อนและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในส่วนรวม (Quick win) ๒) กำหนดวิธีทำงานและสร้างทีมผู้รับผิดชอบ ๓) แสดง Best Practice ๔) จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ๕) Public Feedback แผนที่จะทำ ๖) ทำ Road map สู่ความเป็นจริง ๗) หน่วยขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ๘) สื่อสารให้สังคมรับรู้ และ ๙) สรุปบทเรียน  ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติต่อไป

            หลังจากนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติแล้วส่งให้ สกศ. เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนฯ และนำเรียน รมว.ศธ. เพื่อรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และจะมีการประชุมสัมมนาร่วมกับศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันกับศึกษาธิการภาค/จังหวัด เกี่ยวกับแนวทางดำเนินการแปลงแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาภาค/จังหวัด รวมทั้งจะประสานการดำเนินงานร่วมกับผู้ตรวจราชการฯ เพื่อพัฒนาระบบติดตามผลการดำเนินงานตามแผนฯ ร่วมกันเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ สกศ. ได้รับมอบหมายให้จัดการเรื่องข้อมูลทางการศึกษา (Big Data) ซึ่งจะเร่งดำเนินการ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป และยินดีที่จะเป็นเวทีให้ทุกหน่วยงานได้มาปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

************************************* 

 
 
 
 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด