สกศ. X หน่วยงานการศึกษา ร่วมโต๊ะหารือการใช้ AI ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย

image

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้าน AI For Education โดยมี นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ.

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับ AI for Education จึงมอบหมายให้สกศ. จัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ของผู้เรียน โดยจากการเปรียบเทียบการศึกษาไทยประเด็น AI for Education ในระดับสากล พบว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลโลก 2024 โดย IMD ความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 36 จากทั้งหมด 67 ประเทศ ด้านดัชนีความพร้อมของรัฐบาลด้าน AI โดย Oxford Insights พบว่า ความพร้อมของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยด้านที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย คือ Technology sector ส่วนด้านดัชนีนวัตกรรมโลก 2024 โดย WIPO เมื่อพิจารณาความสามารถด้านนวัตกรรมพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 จากทั้งหมด 133 ประเทศ โดยจุดแข็งที่สำคัญของไทยคือ ร้อยละของผู้ที่จบในสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ขณะที่จุดอ่อนจะอยู่ในด้าน Human Capital and research 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์  2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3) การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ 4) การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 5) การส่งเสริมให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ ระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน 

โดยประเด็นสำคัญที่ควรกำหนดอยู่ใน AI for Education นั่นคือ 1) Generative AI จะช่วยสนับสนุนผู้เรียน ครู ผู้บริหารได้อย่างไร 2) จะใช้ AI ในการวิเคราะห์และยกระดับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างไร 3) จะใช้ AI ในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างไร 4) จะเปลี่ยนแนวทางในการผลิตและพัฒนาครูให้รองรับ AI ได้อย่างไร และ 5) จะใช้ AI ในการพัฒนาหลักสูตรและการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างไร

  

จากนั้นที่ประชุมระดมความคิดเห็นการนำ AI เข้ามาใช้ในการจัดการศึกษาและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการกำหนดให้นิสิตต้องอบรมหลักสูตร AI ทุกชั้นปี ส่วนคณะครุศาสตร์ก็มีการกำหนดให้เรียนหลักสูตร AI Competency for teacher สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการนำเอา AI มาปฏิรูประบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล หรือ DPA เพื่อประเมินการปฏิบัติงานจริงผ่านทางระบบดิจิทัลทั้งหมด สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จัดอบรม AI สำหรับครูให้นำไปใช้ออกแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ในขณะที่การใช้ AI ก็มีหลายข้อกังวล เช่น การที่นักเรียนนักศึกษาพึ่งพา AI มากจนเกินไป ทำให้ไม่ได้ใช้ความคิดในการกลั่นกรอง วิเคราะห์เท่าที่ควร การนำ AI มาใช้อาจจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำได้ เนื่องจากครูในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นบางท่านไม่เชี่ยวชาญการใช้ AI หรือมีเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ รวมถึงงบประมาณการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ AI ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ AI ในการพัฒนาการศึกษาที่ได้ในวันนี้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีความสมบูรณ์ต่อไป 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด