สกศ. X กลุ่มคนเคลื่อนเมือง ค้นเคล็ดลับสร้างการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนเมืองนครพนม

image

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568  นางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้  เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน คนเคลื่อนเมือง นครพนม โดยมีนางสาวศรีมาลาฌ์  ยะภักดี ผู้ก่อตั้งกลุ่มคนเคลื่อนเมือง จังหวัดนครพนม  รองผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซีวายเอฟ รูปแบบการประชุมออนไลน์และออนกราวด์

นางสาวศรีมาลาฌ์  เล่าถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่ม “คนเคลื่อนเมือง”ว่า เกิดจากคนนครพนมรุ่นใหม่กลับบ้าน และมีแนวคิดที่ต้องการพัฒนาบ้านเกิด ต้องการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก เยาวชน แนวคิดสำคัญในการเคลื่อนงาน คือ “คนคือเมือง เมืองคือคน” เชื่อว่าการพัฒนาเมืองต้องเริ่มจากคน โดยให้เริ่มทำที่ตนเอง ไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ เริ่มจากการทำในสิ่งที่รักที่ถนัด เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน เมื่อทำด้วยความตั้งใจ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เห็นก็จะเกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเอง ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วนให้ความร่วมมือ  สำหรับภารกิจหลักของกลุ่ม คือ ขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่นผ่านศิลปะและพื้นที่สร้างสรรค์  ทำงานกับเยาวชนนอกระบบ ในระบบ ด้วยกิจกรรมที่เข้าถึงง่าย  สร้างสำนึกความเป็นเจ้าของเมืองให้กับประชาชนทุกกลุ่ม  และผลักดันให้นครพนมเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ รูปแบบ การจัดกิจกรรม เช่น “เดินเมือง” เป็นการเล่าเรื่องเมือง ชวนเด็ก ๆ เรียนรู้บ้านเกิดผ่านการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ มีกิจกรรมฉายหนังสารคดี  มี workshop ศิลปะ วัฒนธรรม เช่น ทำขนมไทย งานคราฟต์ ฯลฯ มีการจัดนิทรรศการ/เวทีศิลปิน เช่น ดนตรีร่วมสมัย  กิจกรรมถ่ายภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการช่วยลดปัญหาเด็กออกนอกระบบ โดยมี “ศูนย์การเรียนซีวายเอฟ” ที่มีแผนจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และสามารถเก็บ credit bank จากการเรียนได้  มีเครื่องมือที่ช่วยในการเรียนการสอน เช่น โรงเรียนมือถือ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นต้น  ผลการดำเนินงานพบว่า ศูนย์การเรียนฯ สามารถช่วยเด็กเยาวชนที่มีข้อจำกัดได้จำนวนมาก ไม่เฉพาะในจังหวัดนครพนมเท่านั้น ยังสามารถช่วยเหลือเด็กในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย 

ปัจจัยความสำเร็จ คือ ทำงานแบบยืดหยุ่น รวดเร็ว  ลดความเป็นพิธีการ เน้นการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐเอกชน ประชาสังคม ฯลฯ สร้างเครือข่ายทั้งในและต่างจังหวัด โดยส่งเสริมให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพราะ “ถ้าทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ทุกคนจะรักเมืองของตนเอง และอยากทำให้ดีที่สุดในทุกด้าน” ซึ่ง สกศ. สามารถนำไปเป็นตัวอย่างเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เช่น สมัชชาการศึกษา และเป็นตัวอย่างแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด