สกศ. X ศธจ. นครปฐม ขับเคลื่อน “ธนาคารหน่วยกิต” เชื่อมโยงทุกระบบการเรียนรู้ ผ่านเวที IFTE จังหวัดนครปฐม

วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิด “โครงการ Innovations For Thai Education (IFTE) การเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำธนาคารหน่วยกิตที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของพื้นที่ ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม” พร้อมด้วย นางพัทธนันท์ นิลพัฒน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม และนางวณัชวรรณ์ วรวิชิตพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ดร.นิติ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา” และ “กรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติแนวทางการเชื่อมระดับคุณวุฒิโดยยึดตามระดับสมรรถนะ” มีเนื้อหา มุ่งเน้นการนำเสนอการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ซึ่งการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (Credit Bank) ถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการจัดการศึกษาให้เชื่อมโยงกับบริบทของผู้เรียนทุกกลุ่มวัย สามารถสะสม เทียบโอน และนำไปใช้เพื่อการศึกษาต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กับมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานแรงงาน โดยเปิดทางให้สถานศึกษาร่วมกันจัดทำฐานข้อมูล Big Data เพื่อรองรับการเทียบโอนอย่างมีมาตรฐาน และเป็นธรรมต่อผู้เรียน
ในช่วงบ่าย ได้เปิดเวทีเวิร์กช็อปให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฏิบัติ “การขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิต Pilot project สู่ความเป็นรูปธรรม” ผ่าน “แบบฟอร์มการวิเคราะห์และเปรียบเทียบรายวิชาเพื่อรองรับระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ” โดยให้ผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันวิเคราะห์รายวิชาในหลักสูตรของตนเอง แล้วเทียบเคียงกับรายวิชาจากหลักสูตรอื่นหรือระดับมาตรฐานอาชีพในระดับเดียวกัน พร้อมทั้งมีการสรุปผลการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาต่อในสถานศึกษาให้ตอบโจทย์พื้นที่จริง เช่น แนวทางการเทียบโอนระหว่างระบบสถานศึกษาหรือระบบการศึกษา
การประชุมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน “นโยบายสู่ภาคปฏิบัติ” เพื่อสร้างระบบการศึกษาไทยที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกวัย และทุกเส้นทางอาชีพ สู่จุดหมายเดียวกัน คือ เพื่อการศึกษาไทยที่ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” ตามแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

