สกศ. ระดมความเห็นจัดทำตราสารประกอบการสมัครสมาชิก OECD ด้านการศึกษา
วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำตราสารประกอบการสมัครเป็นสมาชิก OECD ด้านการศึกษา Initial Memorandum (IM) ของประเทศไทย โดยมีนายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สกศ. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำตราสารประกอบการสมัครเป็นสมาชิก OECD ด้านการศึกษา Initial Memorandum (IM) ซึ่งเป็นเอกสารที่ประเทศผู้สมัครจะใช้ในการประเมินตนเองเกี่ยวกับความสอดคล้องของกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติกับตราสารของ OECD ต้องจัดทำ 4 ประเด็นด้านการศึกษา ได้แก่
1. คำแนะนำของสภาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการจัดการคุณภาพในการศึกษาระดับอุดมศึกษาข้ามพรมแดน
2. ข้อแนะนำของสภาว่าด้วยหลักการชี้แนะด้านความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
3. ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างสังคมที่เท่าเทียมผ่านการศึกษา
4. ปฏิญญาว่าด้วยนโยบายการศึกษาในอนาคตในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
และรายละเอียด 3 ระดับ คือ 1. ระดับกฎหมาย อธิบายกฎหมายของประเทศให้มีความสอดคล้องกับตราสารดังกล่าว 2. ระดับนโยบาย อธิบายนโยบายของรัฐสอดคล้องกับตราสาร และ 3. ระดับแนวปฏิบัติ อธิบายการดําเนินงานของภาครัฐที่เป็นไปตามตราสารดังกล่าว
การเข้าเป็นสมาชิกของ OECD จะเป็นก้าวสำคัญของไทยในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากล และเป็นโอกาสที่สำคัญในการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย แนวปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สกศ. ได้ดำเนินการยกร่าง IM เรียบร้อยแล้ว และเพื่อให้การจัดทำ IM ด้านการศึกษามีความครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และเห็นถึงการดำเนินงานที่สอดคล้องกับตราสารของ OECD
จากนั้นที่ประชุมได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 คำแนะนำของสภาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการจัดการคุณภาพในการศึกษาระดับอุดมศึกษาข้ามพรมแดน โดยมีนายสิทธิชัย ภคภัทร และนางสาวนภา บุณยประสิทธิ์ เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม กลุ่ม 2 ข้อแนะนำของสภาว่าด้วยหลักการชี้แนะด้านความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว โดยมีนายเสกสันต์ จันทร์แย้มสงค์ และนายวัชระ ใบยูซบ เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม กลุ่ม 3 ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างสังคมที่เท่าเทียมผ่านการศึกษา โดยมีนางสาวเกณิกา บริบูรณ์ และนายปฏิญญา มุขสาร เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม และกลุ่ม 4 ปฏิญญาว่าด้วยนโยบายการศึกษาในอนาคตในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยมีนางสาวเกศรินทร์ หาญดำรงรักษ์ และนางสาวกุลสตรี มันทิกะ เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย นโยบาย แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับแต่ละประเด็นในการการจัดทำตราสาร รวมถึงข้อเสนอที่จะดำเนินการในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปประกอบการจัดทำ IM เพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วน สมบูรณ์ และถูกต้อง สอดคล้องกับข้อกำหนดของ OECD ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ในอนาคตต่อไป

