สกศ. ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น”
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การจัดการศึกษาและเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับเด็กและเยาวชน และการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่" โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ. เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนเยาวชน ศูนย์การเรียน หน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ และข้าราชการ สมร. เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
การประชุมครั้งนี้มุ่งส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศการศึกษาที่ดี ด้วยการออกแบบการเรียนรู้และการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Learning) เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย และร่วมแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. มอบหมายให้ สกศ. วางยุทธศาสตร์ Thailand Zero Dropout เพื่อนำเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาตามนโยบาย "เรียนดี มีความสุข"
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งในฐานะผู้เรียนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สถานศึกษาและมูลนิธิที่ร่วมจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น มีการจัดแผนที่ความรู้การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ศูนย์การเรียนร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา 2) การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ โดยให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 3) ส่งเสริมหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และ4) ภาคเอกชนกับบทบาทนักจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เช่น โครงการ KFC Bucket Search และศูนย์การเรียน S&P
โอกาสนี้ สกศ. ได้นำเสนอแนวทางการเชื่อมโยงธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ที่ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดของการศึกษาในระบบเดิม และช่วยดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบ หรือมีอายุเกินเกณฑ์สามารถกลับเข้ามาสู่การศึกษาได้ตามศักยภาพของผู้เรียน จากนี้ สกศ. จะนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมมาเติมเต็มการศึกษาวิจัย (Research Unit) ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้และการทำงานต่อไป