สกศ. อบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้มุ่งสู่การพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษาในรูปแบบออนไลน์ ครั้งที่ 1 เรื่อง แนวทางการจัดทำมาตรฐานการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

image

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ โดยกลุ่มมาตรฐานการศึกษา ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้มุ่งสู่การพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ในรูปแบบออนไลน์ ครั้งที่ 1 เรื่อง แนวทางการจัดทำมาตรฐานการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร 2 ชั้น 5 สกศ. ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวต้อนรับผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ศึกษานิเทศก์ จากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 11 แห่ง พร้อมทั้งคณะผู้สนับสนุนวิชาการซึ่งเป็นที่ปรึกษาในพื้นที่ จำนวนประมาณ 120 คน การอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในการนำมาตรฐานของชาติสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม



ในภาคเช้า มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กอบสุข  คงมนัส และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร  หลินเจริญ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรให้ความรู้และเทคนิคสู่ความสำเร็จในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ จำนวน 7 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นเตรียมการ
1. เตรียมความพร้อม ศึกษาและสร้างความเข้าใจมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561
2. กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
3. จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นดำเนินการ
4. ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นตรวจสอบ
5. ประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา
6. ติดตามผลการดา เนินการของสถานศึกษา ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา
7. จัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง และจัดส่งให้แก่หน่วยงานต้นสังกัด



นอกจากนี้ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางปฏิบัติและประสบการณ์จากสถานศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านสมานมิตร จ.ระยอง โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ และโรงเรียนวัดพลมานีย์ กทม. ซึ่งมีประเด็นในการเสวนา ดังนี้ 
1) วิธีการนำมาตรฐานการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา 
2) กระบวนการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษา 
3) ตัวอย่างการนำมาตรฐานการศึกษามาใช้ในการทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 
4) ปัญหาที่โรงเรียนพบจากการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา 
5) ปัญหาที่โรงเรียนพบจากการทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 
6) ข้อเสนอแนะในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ 
 

โดยสถานศึกษาทั้ง 3 แห่งได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดังนี้
โรงเรียนบ้านสมานมิตร จ.ระยอง สังกัด สพฐ. 
โรงเรียนบ้านสมานมิตร เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามบริบทของตนเอง โดยการวิเคราะห์บริบทแวดล้อมของโรงเรียน ศึกษาสร้างความเข้าใจมาตรฐานการศึกษาชาติ  เพื่อเป็นกรอบนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อกำหนดกรอบหลักสูตรมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สำหรับการกำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพผู้เรียน จะเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน โดยเพิ่มเติมสมรรถนะที่สำคัญตามกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน มาตรฐานด้านการบริหาร จะมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และมาตรฐานด้านการสอน จะมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนและการปรับเปลี่ยนทัศนคติของครูผู้สอนในด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู ทั้งนี้ โรงเรียนขับเคลื่อนและพัฒนาโดยใช้หลักการบริหารจัดการแบบองค์รวม เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการนำนวัตกรรมที่หลากหลายมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน

โรงเรียนวัดพลมานีย์ สังกัดกรุงเทพมหานคร
โรงเรียนวัดพลมานีย์ เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่ ดำเนินการนำมาตรฐานการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา โดยศึกษาสร้างความเข้าใจมาตรฐานการศึกษาชาติ และการทำ SWOT ของโรงเรียน เพื่อนำมาเป็นกรอบในการทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาใช้ตามต้นสังกัดแต่เพิ่มจุดเด่นของโรงเรียน คือ เรื่องของจิตอาสา การอ่านออกเขียนได้ 100% และคุณลักษณะการออมเงิน โรงเรียนดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษาด้วยกระบวนการ PDCA ประกอบด้วยการสร้างความตระหนัก กำหนดมาตรฐาน เป้าหมาย แผนการปฏิบัติราชการ การนิเทศก์ภายในโรงเรียน กระบวนการ PLC และนำมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาและวางแผนการดำเนินงานในปีการศึกษาต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ โรงเรียนจำเป็นต้องสร้างจุดเด่นของตนเอง ผู้บริหารต้องมีความชัดเจน มีเป้าหมาย ลงมือทำร่วมกับคุณครูรวมทั้งการมีส่วนร่วมภายในโรงเรียนและการสร้างความเข้าใจในการประเมินคุณภาพให้กับครูและผู้ปกครองให้มองเห็นภาพรวมไปในทิศทางเดียวกัน

โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ สังกัด สถ.
โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลาง ดำเนินการศึกษามาตรฐานการศึกษาชาติเชื่อมโยงกับมาตรฐานของต้นสังกัด และผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของจังหวัด รวมทั้งวิเคราะห์บริบทของโรงเรียน ชุมชน ใช้ชุมชนการพัฒนาวิชาชีพ PLC วิเคราะห์จุดเด่น School Concept เพื่อจัดทำมาตรฐานของสถานศึกษาให้มีความสอดคล้องกัน โดยเน้นกระบวนการในชั้นเรียนเพื่อให้ลงสู่นักเรียนมากที่สุด อีกทั้งโรงเรียนดำเนินการการสร้างความตระหนักรู้แก่ครูและเครือข่ายสถานศึกษา การบริหารงานเน้นการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจตามโครงการ “โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่” รวมทั้งกำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ทั้งนี้ความสำเร็จของการดำเนินงานภายในโรงเรียนเกิดจากความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของบุคลากรในโรงเรียน ที่มีเป้าหมายเดียวกัน 

ปัญหาที่โรงเรียนพบจากการทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาของทั้ง 3 โรงเรียน คือ ด้านบุคลากรการโยกย้ายบุคลากรครูอยู่บ่อยครั้ง ภาระงานจากส่วนกลางที่ต้องรับผิดชอบมีมาก ประกอบกับครูที่เข้าบรรจุใหม่ยังขาดประสบการณ์ ทำให้มีผลต่อการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีการติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯเป็นระยะอย่างต่อเนื่องต่อไป
 

ภาคบ่าย (28 พ.ค. 64) ได้มีการประชุมกลุ่มย่อย ที่ปรึกษาของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 11 แห่งๆ ละ 1 คน ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ในพื้นที่ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สถาบันอาศรมศิลป์ ผอ.สำนักการศึกษาเทศบาลนครเชียงราย เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการให้คำปรึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งการร่วมพัฒนาสถานศึกษาในโครงการ ดำเนินรายการโดย ดร.นาถฤดี จิตรรังสรรค์ นักวิจัยในโครงการ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ โดยมีประเด็นการเสวนา ดังนี้
1) การชี้แจงบทบาทของที่ปรึกษาและแนวทางการดำเนินโครงการฯ
2) แนวทางการเก็บข้อมูลสถานศึกษา ด้วยเครื่องมือ และวิธีการที่หลากหลายภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 
3) การถอดบทเรียน และการเขียนรายงานผลการศึกษานวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการขยายผลโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งที่ประชุมมีความเข้าใจที่ตรงกันในบทบาทหน้าที่ จุดเน้น และความสำคัญของการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ ในบริบทจริงและหลากหลาย เตรียมขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่าย หรือโรงเรียนอื่น ๆ ในโครงการระยะที่ 2 ต่อไป อันจะเป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินการพัฒนาการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติต่อไป
 

 

 


 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด