ICT กับการศึกษา: ประสบการณ์จากออสโล แนวโน้มของโลก และทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทย

image

ICT กับการศึกษา: ประสบการณ์จากออสโล แนวโน้มของโลก และทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทย
              สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รับมอบหมายให้เป็นคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ ๕๗ ของสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (57th General Assembly of the International Association for the Evaluation of Education Achievement: 57th IEA GA) ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดบทบาทของ IEA ตลอดจนหารือและรายงานความก้าวหน้าของการประเมินต่างๆ ที่จัดโดย IEA อาทิ โครงการศึกษาแนวโน้มการศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) โครงการศึกษาความก้าวหน้าการรู้เรื่องการอ่านระหว่างประเทศ (Progress in International Reading Literacy Study: PIRLS) โครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (International Civic and Citizenship Education Study: ICCS) สิ่งที่น่าสนใจจากการประชุมครั้งนี้คือ การประเมินจะเป็นการประเมินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ไม่เฉพาะโครงการการศึกษาการรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และข้อมูลระหว่างประเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICILS) เท่านั้น ดังนั้น นอกจากนักเรียนผู้เข้าประเมินจะต้องมีทักษะความรู้ในรายวิชานั้นๆ เป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดีอีกด้วย จึงจะสามารถทำการประเมินได้อย่างเต็มสมรรถนะ
              เจ้าภาพได้พาคณะผู้เข้าร่วมประชุมไปทัศนศึกษา ณ Grav School โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่เป็นโรงเรียนนำร่องการใช้ iPad เป็นเครื่องมือประกอบการเรียนการสอน ทางคณะผู้แทนไทยได้มีโอกาสสังเกตการณ์การเรียนการสอนในวิชาการอ่านภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาปีที่ ๒ และวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ โดยในวิชาการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๒ พบว่า ครูให้นักเรียนอ่านหนังสือแล้วจึงทำแบบฝึกหัดบน iPad แบบฝึกหัดจะประกอบด้วยโจทย์คำถามให้นักเรียนได้ตอบหรือปฏิบัติตามคำสั่ง อาทิ บันทึกเสียงการอ่าน หรือพิมพ์คำตอบลงใน iPad เป็นต้น สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ ครูจะนำเข้าสู่บทเรียนก่อนโดยการแสดงตัวอย่างการคำนวณและให้นักเรียนได้ศึกษาและทำแบบฝึกหัดด้วยตนเองผ่าน iPad เป็นการฝึกฝนการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self-directed Learning) ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งนักเรียนยังสามารถนำเสนอและอธิบายวิธีการคำนวณจาก iPad ของตนเองขึ้นจอใหญ่ของห้องได้อีกด้วย


              Grav School ดำเนินโครงการนี้ มาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๘ รวมระยะเวลาเกือบ ๒ ปี และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงความต้องการและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละระดับอย่างแท้จริง คณะครูได้ทำการวิจัยชั้นเรียนและพบว่า ความกระตือรือร้นของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยจะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มเด็กผู้ชาย คุณครูเล่าว่า นักเรียนมีสมาธิกับการบันทึกเสียงมาก จะบันทึกซ้ำๆ จนกว่าจะดีที่สุด การบันทึกเสียงนี้นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการฝึกฝนเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของครู ครูสามารถใช้เวลาฟังการอ่านออกเสียงของนักเรียนอย่างละเอียด และบันทึกความก้าวหน้าของนักเรียน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนได้ด้วยการให้ความคิดเห็น (feedback) เป็นเสียงของครูกลับไปยังนักเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้นักเรียนรู้สึกถึงการให้ความสำคัญและเอาใจใส่ของครูต่อนักเรียนและผลงานของนักเรียน อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญของการนำ iPad มาเป็นเครื่องมือประกอบการเรียนการสอน คือ การเตรียมความพร้อมของครูในการเลือกใช้ applications ให้เหมาะสมกับรายวิชาและระดับของนักเรียน

            จากการประชุมรายงานความก้าวหน้าโครงการต่างๆ ของ IEA ประกอบกับการทัศนศึกษาโรงเรียนในนอร์เวย์ ทำให้กลับมามองว่าแนวโน้มของทั่วโลกทางด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กับการศึกษาเป็นอย่างไร และประเทศไทยมีการรับมือและดำเนินการอย่างไรบ้าง หนึ่งในโครงการประเมินของ IEA คือ โครงการศึกษาการรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และข้อมูลระหว่างประเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICILS) เป็นการประเมินนักเรียนด้านความรู้ข้อมูลดิจิทัล (Digital Information Literacy: DIL) และการประเมินทักษะการประมวลผล (Computational Thinking: CT) ซึ่งเป็นการประเมินความรู้ข้อมูลฐานคอมพิวเตอร์ การจัดการ และการสื่อสารภายใต้สภาพแวดล้อมออนไลน์ การประเมินจะติดตามการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามโจทย์ที่ได้รับ ประเมินการพัฒนากระบวนการคิดและแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยพิจารณาการให้คะแนนจากคำตอบที่ถูกต้อง ความคงเส้นคงวาในกระบวนการแก้ปัญหา และความสามารถในการประยุกต์ใช้คำสั่งได้
             คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับ การพัฒนาการเรียนรู้ แนวโน้มการพัฒนาการศึกษาในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ อีกกว่า 180 ประเทศมีการตื่นตัวการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ และการสร้างนวัตกรรม เพราะการรู้เทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เพียงการเป็นเพียงผู้ใช้งาน (user) เท่านั้น แต่ควรเป็นผู้สร้าง พัฒนาและควบคุม เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะเป็นผู้สร้าง ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อาจจะมีบิลล์ เกตส์ หรือ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก สัญชาติไทย และ นั่นน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถพัฒนาประเทศไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้
             คุณครูวิทยาศาสตร์น่าจะเคยได้ยิน ได้รู้จักศาสตราจารย์ เซย์มัวร์ พาเพิร์ต (Seymour Papert) แห่ง MIT Media Lab ผ่านโครงการด้านวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี อาทิ Lego Logo และ MicroWorlds



LEGO-Logo และ MicroWorlds ถูกพัฒนาขึ้นโดยอาจารย์เซย์มัว พาเพิร์ต เพื่อนำการคึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานแนวใหม่ให้กับเด็ก โดยให้เด็กเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ Logo เขียนคำสั่งให้เต่าบนหน้าจอเดินได้หรือหุ่นยนต์ ตัวต่อเลโก้ (LEGO) ทำงานตามที่ต้องการได้ เด็กจะได้ใช้ความเข้าใจพื้นฐานของวิชาคณิตศาสตร์ ฝึกฝนทักษะทางภาษาคอมพิวเตอร์ และสร้างงานจากจินตนาการผ่านตัวต่อเลโก้ LEGO-Logo ไม่เพียงส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กเล็กเท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์สำหรับเด็กโตด้วย ดังเช่น โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือ Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) ของวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีการนำ LEGO-Logo มาประกอบการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีม มีการวางแผนและออกแบบโครงการ ตลอดจนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานได้

             อีกระดับของการเรียนรู้ แน่นอนว่า LEGO-Logo และ MicroWorlds จำเป็นต้องมีโปรแกรม มีผู้สอน และการลงทุน ด้วยเหตุนี้เอง ผู้มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีจึงได้รวมตัวกันทำเว็บไซต์ Code.org ขึ้น เพื่อให้ทุกคนทั่วโลกเรียนรู้การเขียนโค้ดคำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์จากที่ใดก็ได้ในโลกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย Anybody can learn หรือใครๆ ก็เรียนได้ คือคำขวัญของโครงการรณรงค์การเรียนรู้การเขียนโค้ด ๑ ชั่วโมงต่อวัน “Hour of Code” สิ่งสำคัญที่โดดเด่นและน่าสนใจมากสำหรับ Code.org คือ ครูผู้สอนเป็นผู้มีชื่อเสียงด้าน IT อย่างบิลล์ เกตส์ และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เป็นต้น ปัจจุบันมีนักเรียนอายุตั้งแต่ ๔ – ๑๐๔ ปีกว่า สิบล้านคนจากกว่า ๑๘๐ ประเทศกำลังเรียนรู้การเขียนโค้ดจากเว็บไซต์ Code.org ด้วยภาษา ๔๐ ภาษาทั่วโลก เป็นเวลากว่า ๒๗๙,๘๘๐,๔๗๕ ชั่วโมงแห่งโค้ด ประเทศต่างๆ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีให้กับเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ จากการประชุม IEA ที่ประชุมได้ยกตัวอย่างโจทย์การประเมิน ICILS ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการเขียนโค้ด การใช้คำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทยในการฝึกฝนทักษะและสร้างความคุ้นเคยกับรูปแบบและวิธีการในการเขียนโค้ดคำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง
             จากการศึกษาการทบทวนนโยบายการศึกษาของประเทศไทย โดย OECD-UNESCO (Education in Thailand: Reviews of National Policies for Education) พบว่า ประเทศไทยลงทุนด้าน ICT เพื่อการศึกษามานานหลายทศวรรษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เริ่มมีการสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน และมี การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเทคโนโลยี ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ ขึ้น เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มขีดความสามารถและยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการทางการศึกษาโดยใช้ ICT และผลิตและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรบุคคลด้าน ICT ทำให้การศึกษาไทยให้ความสำคัญต่อการใช้ ICT เพื่อการศึกษาอย่างกว้างขวาง และในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๗ รัฐบาลได้มีนโยบาย One Tablet Per Child (OTPC) ขึ้น เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและเพิ่ม ขีดความสามารถด้าน ICT ของผู้เรียน อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนทางด้าน ICT เพื่อการศึกษาสูงและทันสมัยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่โรงเรียนไทยกลับยังมีปัญหาการเข้าถึง ICT และสื่อดิจิทัลสำหรับ การเรียนการสอน ครูไทยขาดความมั่นใจและสมรรถนะในการใช้ ICT และเรื่องเร่งด่วนคือประเทศต้องการกลไกในการรวบรวม จัดการข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ยุทธศาสตร์ ICT สนับสนุนการพัฒนาและดำเนินการ ตามนโยบายโดยมีข้อมูลรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการวางแผนแบบบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงต่างๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งประเด็นด้าน ICT กับการศึกษานี้ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๔ ได้กำหนด ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นเรื่อง ICT เพื่อการศึกษาและระบบฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ เป็นปัจจุบันและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของคนไทยทุกช่วงวัยโดยเฉพาะ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพและเสถียรภาพ มีคลังสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานให้ครูได้เลือกใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละระดับ ตลอดจนมีระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร การตัดสินใจและการวางแผนที่อยู่บนฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน มีเอกภาพและเป็นปัจจุบัน ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่การวางแผน จนถึงการขับเคลื่อนนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ นี้จึงเป็นการบูรณาการแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๔ แผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๒ และแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การดำเนินการของแผนการศึกษาแห่งชาติสำเร็จบรรลุเป้าหมาย ยังประโยชน์แก่คนไทยให้มีการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดจนสามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม


ที่มา: 
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (๒๕๕๙). (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๔. กรุงเทพฯ OECD/UNESCO (2016), Education in Thailand: An OECD-UNESCO Perspective, Reviews of National Policies for Education, OECD Publishing, Paris.

โดย ดร.จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร 
สำนักนโยบายและแผนการศึกษา

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด