กอปศ.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....

image

          วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑  ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา และ ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา  ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธาน

 

          การประชุมแบ่งออกเป็นภาคเช้าและภาคบ่าย ภาคเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภาคบ่ายเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานในส่วนภูมิภาค มีประเด็นการรับฟังความคิดเห็น ๑๐ ประเด็น ดังนี้ ๑.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๑ หน้าที่ของรัฐอย่างไร ๒.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๒ สิทธิและหน้าที่อย่างไร ๓.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๓ การจัดการศึกษาอย่างไร ๔.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๔ ครู บุคลากรทางการศึกษา และการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร ๕.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๕ การพัฒนาและการกำกับดูแลระบบการศึกษาอย่างไร ๖.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๖ แผนการศึกษาแห่งชาติ และทรัพยากรเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้อย่างไร ๗.ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหมวด ๗ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติอย่างไร ๘.ท่านคิดว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ขจัดอุปสรรคในการบริหารและจัดการศึกษาหรือไม่ อย่างไร ๙.ท่านคิดว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... รับรองทิศทางการศึกษาในอนาคตหรือไม่อย่างไร และ ๑๐.ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ทั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาธิการภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษา เข้าร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นกว่า ๒๐๐ คน

 

          ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเท ในการทำงานมาโดยตลอด เพื่อนำมาสู่การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลด้านการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับปัญหาทางการศึกษามีอยู่ ๔ เรื่อง คือ ๑.คุณภาพการศึกษา ๒.ประสิทธิภาพของระบบการศึกษา  ๓.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ ๔.ความสามารถในการแข่งขันของชาติ ซึ่งการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....ฉบับนี้เป็นการถอดหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญออกมา เป็นเสมือนธรรมนูญการศึกษาของประเทศ เนื้อหาในพ.ร.บ.นี้เน้นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไข ส่วนรายละเอียดจะนำไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และแผนการศึกษา จึงขอรับฟังความคิดเห็นจากทุกท่านที่มาร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ไปพิจารณาและแก้ไขให้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเพียงคณะเดียว แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และของทุกภาคส่วน

 

          รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการจัดระบบการศึกษาของประเทศให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างคนดีและเก่ง ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความถนัด ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โดยมีหลักการและกรอบแนวคิดที่สำคัญ คือ ๑.การมุ่งเน้น การจัดระบบการศึกษาโดยรวม ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งการศึกษาตามระบบ การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงมีระบบเทียบเคียงเทียบโอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ๒.ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนในการศึกษาตามระบบสำหรับผู้เรียนทุกระดับ โดยให้มีการผลิตครูที่มีคุณภาพ การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ เพื่อวิจัยและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรฐานสมรรถนะ การประกันคุณภาพการศึกษาที่ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย ๓.ให้ความสำคัญต่อสถานศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพ โดยให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการทางวิชาการ บุคลากร การเงิน และการบริหารทั่วไป รวมถึงให้ภาคเอกชนสามารถร่วมจัดการศึกษาหรือรับผิดชอบเป็นผู้จัดการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐได้ และการจัดตั้งเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ๔.ส่งเสริมให้ระบบการศึกษาสามารถช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล และ ๕.มุ่งเน้นการจัดระบบเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการเชิงระบบ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของระบบการศึกษาในภาพรวม โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกหลักด้านนโยบาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบทบาทของชุมชน

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศช่วงเช้าและบ่ายได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด