กอปศ. ครั้งที่ ๒๕/๒๕๖๑ ปรับการจัดสรรงบประมาณพิจารณาความแตกต่างตามความเหมาะสมของพื้นที่

image

 

          วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๒๕/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต  โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เป็นประธานการประชุม ในการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา  “ระบบทรัพยากรเพื่อการศึกษา”

 

       

 

        ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ในหมวด ๖ แผนการศึกษาแห่งชาติ และทรัพยากรเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พบว่าประเทศไทยใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาจำนวนมาก แต่คุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องมีการปรับการจัดสรรงบประมาณใหม่ ไม่ใช้วิธีถัวเฉลี่ยเท่ากันหมด ควรพิจารณาจากความจำเป็นเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และควรสนับสนุนงบประมาณไปที่โรงเรียนโดยตรง อาจใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณผ่านผู้เรียน สพฐ.และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะมีหน้าที่สนับสนุน  นอกจากนี้งบประมาณการศึกษาส่วนใหญ่ยังใช้เป็นค่าบุคลากรทางการศึกษา และค่าวิทยฐานะ ซึ่งระบบเดิมยังไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะเน้นผลงานในอดีต แต่การเลื่อนวิทยฐานะควรเป็นการเลื่อนที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบและหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น เช่น ครูที่มีประสบการณ์ มีวิทยฐานะ ควรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับครูจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้เรียนรู้วิธีการสอน เพื่อให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา และเพื่อทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น โดยมีแนวคิดว่าในอนาคตผู้ที่จะเข้าสู่วิทยฐานะใหม่ต้องมีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ

 

          รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ในปัจจุบันงบประมาณด้านการศึกษาค่อนข้างสูง มีประมาณ ๙ แสนล้านบาท โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ สพฐ. คิดเป็น ๗๐% ของงบประมาณการศึกษา เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายภายใต้โครงสร้างของ สพฐ. พบว่า งบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากร โดยจำนวนนักเรียนมีจำนวนลดลงจึงต้องหาแนวทางบริหารทรัพยากรให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของ สพฐ. ในระดับจังหวัด และลงลึกถึงรายจ่ายของสถานศึกษา พบว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมีรายรับ รายจ่ายค่อนข้างสูง โรงเรียนขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ การจัดสรรงบประมาณรายหัวที่ผ่านมา คือ ขาดการพิจารณามิติความแตกต่างของผู้เรียน รวมถึงสภาพความแตกต่างทางเศรษฐกิจของโรงเรียนแต่ละพื้นที่ เช่น โรงเรียนที่อยู่บนเขา และโรงเรียนที่อยู่บนเกาะ ต่อไปการจัดสรรงบประมาณจะพิจารณาตามความแตกต่าง และจำเป็นของพื้นที่

          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เห็นว่า ส่วนกลางควรมีหน้าที่เชิงวิจัย พัฒนานวัตกรรม ประเมินผล ส่งเสริม ควบคุม และกำกับ เขตพื้นที่มีหน้าที่รับนโยบายจากส่วนกลางและให้การสนับสนุน โดยมีสถานศึกษาเป็นหน่วยปฏิบัติ โครงสร้างงบประมาณจึงควรกระจายสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณจะไม่ใช้วิธีเฉลี่ยเท่า ๆ กัน แต่จะดูความแตกต่างตามบริบท ๓ ด้านที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... คือ ๑.ความแตกต่างของตัวบุคคล ๒.ความแตกต่างของสถานศึกษา และ ๓.ความต่างระหว่างรัฐและเอกชน

          นอกจากนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ยังเปิดเผยตัวเลขค่าวิทยฐานะของ สพฐ. ซึ่งใช้งบประมาณ ๓๕,๐๐๐ ล้าน/ปี แยกตามระดับวิทยฐานะ ดังนี้ ๑.ระดับเชี่ยวชาญ มีอยู่ ๑,๓๒๙ คน คิดเป็น ๐.๓๕ % ๒.ระดับชำนาญการพิเศษ มีอยู่ ๑๙๗,๘๘๐ คน คิดเป็น ๕๒.๕๑% ๓.ระดับชำนาญการ มีอยู่ ๗๗,๑๓๕ คน คิดเป็น ๒๐.๔๗% และ ๔.กลุ่มที่ยังไม่มีวิทยฐานะ ๑๐๐,๕๒๐ คน คิดเป็น ๒๖.๖๗%  เมื่อปี ๒๕๕๐ จำนวนครู ๑ คน ต่อนักเรียน ๒๐ คน แต่ปัจจุบันจำนวนครู ๑ คน ต่อนักเรียน ๑๖ คน อีกทั้งพบว่า จำนวนประชากรเด็กมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับอัตราเงินเดือนของครูและค่าวิทยฐานะที่เพิ่มขึ้น การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จึงต้องปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรทางการศึกษา

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด