ประชุม กอปศ. ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๑ ปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

image

          วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานการประชุม

          ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ประชุมหารือ เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ คณะกรรมการได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งได้พยายามหาแนวทางในการดูแลช่วยเหลือคนทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มคนพิการตั้งแต่แรกเกิดเพื่อให้กลุ่มคนพิการเหล่านี้โตขึ้นมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม สำหรับปัญหาการวินิฉัยคัดกรองนั้น หากไม่ถูกต้องจะกลายเป็นตีตราบาปให้กับเด็ก นอกจากปัญหาของกลุ่มคนพิการทางด้านการศึกษาแล้ว ปัญหาด้านการดูแล และสภาพแวดล้อมก็มีส่วนที่จะต้องแก้ไข ความยากอยู่ที่ความหลากหลายในการดูแลและแก้ไข ซึ่งต้องการความรู้และระบบการวินิฉัยคัดกรองที่ถูกต้อง

         

 

         รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคนที่ ๑ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ได้มอบหมายให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานคณะทำงานปฏิรูปการศึกษาด้านกลุ่มบุคคลที่ความต้องการดูแลเป็นพิเศษ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับผู้พิการ แต่สภาพความเป็นจริงก็ยังพบปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำ การศึกษาของเด็กพิการยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ปัญหาที่ชัดเจน คือ ความพิการที่ไม่เห็นเด่นชัด กฎหมายเดิมนั้นได้กำหนดความพิการไว้ ๙ ประเภท แต่กฎหมายใหม่ได้เพิ่มเป็น ๑๐ ประเภท เพิ่ม ความหูหนวกและตาบอดในคนๆ เดียวกันเข้าไป เพราะต้องการจัดการเรียนการสอนที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น สำหรับความพิการที่ไม่เห็นเด่นชัด เช่น เด็กแอลดี เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์และพฤติกรรม เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาทางการพูด ทางการสื่อสาร และเด็กสมาธิสั้น ปัจจุบันกระบวนการวินิฉัยคัดกรองยังไม่มีความเที่ยงตรงตามหลักสากล อีกทั้งอัตราการของเด็กสมาธิสั้นมีเพิ่มขึ้น ๕ – ๑๐% การวินิฉัยคัดกรองที่ยังไม่เที่ยงตรงนี้จึงเป็นสาเหตุให้เด็กหลุดออกนอกระบบ ดังนั้นการคัดกรองเด็กจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษารู้วิธีที่จะต้องดูแลเด็กได้ถูกต้องและถูกวิธี

          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวว่า พรบ.การศึกษา ปี ๒๕๔๒ ได้กำหนดกลุ่มคนพิการออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. กลุ่มคนพิการ ๒. กลุ่มคนด้อยโอกาส และ ๓. กลุ่มคนที่มีความสามารถพิเศษ แต่ที่ผ่านมากลุ่มคนด้อยโอกาสและกลุ่มคนที่มีความสามารถพิเศษยังได้รับการดูแลไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึง คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาหาแนวทางการดูแลกลุ่มคนพิการทั้ง ๓ กลุ่มอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนคำนิยามใหม่ในกลุ่มคนด้อยโอกาส ซึ่งเปลี่ยนคำนิยามเป็นบุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ โดยหลักการนั้นเน้นไปที่การดูแลทุกคน ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต โดยใช้วิธีทางการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เน้นการเรียนรวมและการพัฒนาให้ตอบสนองความแตกต่างของแต่ละบุคคลเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของหลักสูตร การเรียน การสอน โดยมีเป้าหมายให้สามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพ รวมถึงจัดการสนับสนุนให้เอื้อต่อการดูแล ทั้งระบบการคัดกรองวินิฉัย ระบบครูที่มีความรู้เฉพาะทาง และระบบบริหารจัดการ เป็นต้น

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด