สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน”

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการอาเซียนร่วมกับรัฐบาลไทย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุม “การประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประจำประเทศไทย  ครั้งที่ ๔ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ (The Fourth AQRF Committee Meeting and NQF Phase IV Workshop)” ขอเรียนถามท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ในฐานะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติประจำประเทศไทย ถึงวัตถุประสงค์ สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :  
    การประชุมครั้งนี้มีกิจกรรมสำคัญ คือ การประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อทบทวนและรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาแนวคิดและการดำเนินการเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิของแต่ละประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับการจัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ขอให้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) อธิบายความแตกต่างระหว่าง “กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ” และ “กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน”
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framwork : NQF) เป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงผลลัพธ์การเรียนรู้ของระดับคุณวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละระดับและประเภทการศึกษา ให้ยึดโยงกับระดับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการดำเนินการเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ภายหลังกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้หารือร่วมกันว่า ควรมีการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติให้อยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนในเวลาต่อมา
       
ผู้ดำเนินรายการ :     จากการประชุมครั้งนี้ แต่ละประเทศมีความก้าวหน้าในการดำเนินการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอาเซียนในภาพรวมอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนแบ่งออกเป็น ๘ ระดับ โดยแต่ละประเทศต้องพิจารณาว่าระบบการศึกษา ระบบพัฒนาบุคลากรด้านอาชีพของตนสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนอย่างไรบ้าง ขณะนี้ มีหลายประเทศที่ได้ดำเนินการปรับระบบการศึกษา ระบบสมรรถนะทางวิชาชีพให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนแล้ว ได้แก่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จากการประชุมในครั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบรูไนดารุสซาลาม ได้ให้ความสนใจที่ดำเนินการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางใด
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    

ประเทศไทยได้ประกาศใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๘ ระดับตามความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ และดำเนินการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) การกำหนดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๒) การปรับระดับมาตรฐานอาชีพให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ  และ ๓) การวางแผนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยหวังว่าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนากรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนกำลังคนในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     กรอบคุณวุฒิแห่งชาติสอดคล้องกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนากำลังคนของรัฐบาลไทยอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    

ปัจจุบันรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการนำประเทศเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย ๔.๐ (Thailand 4.0)” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อน
ด้วยนวัตกรรม” รูปแบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตปริมาณมากและใช้แรงงานทักษะต่ำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่พึ่งพาความรู้ และนวัตกรรม เป็นหลัก การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยให้สำเร็จ

คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยได้วางแผนผลิตกำลังคนใน ๗ กลุ่มสาขาอาชีพประกอบด้วย ๑) กลุ่มสาขาอาชีพด้านโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) กลุ่มสาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) กลุ่มสาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) กลุ่มสาขาอาชีพอาหารและเกษตร ๖) กลุ่มสาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ ๗) กลุ่มสาขาอาชีพแม่พิมพ์ ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพ หน่วยจัดการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการทั้ง ๗ กลุ่มสาขาวิชาชีพ หารือร่วมกับ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันกำหนดสาขาวิชาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ศึกษาข้อมูลเพื่อปรับสมรรถนะทางวิชาชีพในแต่ละสาขาวิชา ปรับปรุงหลักสูตรวิชาชีพ กำหนดคุณสมบัติของครูผู้สอนในแต่ละสาขาวิชาชีพ รวมถึงวางมาตรฐานและรายชื่อครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ด้วย

       
ผู้ดำเนินรายการ :     ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     การจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสร้างประโยชน์แก่สังคมไทยหลายประการ ได้แก่ ๑) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น ๒) สร้างแรงงานไทยให้มีสมรรถนะทางวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียน ๓) สร้างโอกาสของชาติจากการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในอาเซียน ๓) เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างสมรรถนะทางวิชาชีพ และ ๔) ทำให้เกิดอาชีพใหม่ในตลาดแรงงาน ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถานประกอบการ สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม ได้เสนอให้ปรับค่าตอบแทนให้แก่ผู้เรียนในสาขาวิชาชีพ ซึ่งอาจสูงกว่าระดับปริญญาตรี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตแรงงานที่มีทักษะสูง
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ความท้าทายของการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทยมีประเด็นใดบ้าง
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     ประเด็นความท้าทายสำหรับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยมี ๒ ประเด็นสำคัญ คือ 
๑) การพัฒนากลไกและระบบเพื่อเชื่อมโยงและเทียบเคียงระบบคุณวุฒิของหลายหน่วยงานในไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อกำลังคน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเชื่อมโยงและวางแนวทางในการพัฒนาระบบการเทียบโอนและเทียบเคียงระหว่างคุณวุฒิการศึกษาและมาตรฐานอาชีพกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการกำหนดกรอบอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสมรรถนะที่ได้รับการรับรองสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
๒) การสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับของหน่วยงานและบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(stakeholders) ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่นำหลักการ หรือนโยบายไปใช้ เช่น สถานศึกษา ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ นำไปสู่การปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิทั้งในระดับชาติและอาเซียนต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติขอเชิญชวนประชาชนและบุคลากรทั้งในภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำกรอบคุณวุฒิทางวิชาชีพ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา ได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................
       

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด