กอปศ. เล็งเปิดศูนย์เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ผลิตเด็กอาชีวะสู่ไทยแลนด์ ๔.๐

image

          วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๒๐/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานการประชุม

          ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษาขึ้น เนื่องด้วยด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ข้อ คือ ๑. การพัฒนาของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องมีกำลังคนที่มีความรู้และทักษะในทางปฏิบัติ เพื่อรองรับความก้าวหน้าการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ๒. ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ แม้จะจบการศึกษาภาคบังคับแต่บางคนยังไม่สามารถทำงานได้ กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานจากอาชีวศึกษา นี่เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องแก้ไขให้ได้ ทั้งนี้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ได้กำหนดมาตราเฉพาะที่ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา ให้เกิดความคล่องตัวและสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ซึ่งอนุกรรมการต้องนำไปพิจารณาต่อไปเพื่อพัฒนาขีดความสามารถอาชีวศึกษาของประเทศไทย

          ดร. อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา กล่าวว่า ทางอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษาได้ดูเรื่องของเป้าหมายในการปฏิรูปอาชีวะ ซึ่งมีอยู่ ๓ เรื่อง คือ ๑. การเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและประเทศ ผู้เรียนจบต้องมีงานทำ ๒. ผู้ที่เรียนอาชีวะจะต้องมีทักษะและเก่งปฏิบัติ และ ๓. ผู้เรียนมีความสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต  เมื่อเทียบสัดส่วนของผู้เรียนระหว่างสายอาชีวศึกษากับสายสามัญ พบว่า มีสัดส่วนอยู่ที่ ๓๘ ต่อ ๖๒ จึงต้องการเพิ่มสัดส่วนนี้ให้มีความเหมาะสมในการพัฒนาประเทศไปสู่ ๔.๐ และ EEC ซึ่งมีความต้องการสาขาเฉพาะทางมากขึ้น  แรงจูงใจที่สำคัญในการจะเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนอาชีวะ คือ การเพิ่มค่าแรงให้แก่ผู้เรียนจบอาชีวะ ซึ่งจะต้องเป็นสาขาที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนและต้องเรียนในระบบทวิภาคี อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การให้ทุนเรียนฟรี ๒๐ % จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่เรียนสายอาชีวะ และกำหนดให้เรียนในสาขาที่ขาดแคลน อีกมุมหนึ่ง พบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เรียนสายอาชีวะฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน กองทุน กยศ. อาจเข้ามามีบทบาทเรื่องการกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้เหมาะสมกับการเรียน เนื่องจากสถาบันอาชีวะเอกชนหลักสูตรเรื่องระบบราง เป็นสาขาที่มีความต้องการของภาคเอกชน แต่มีค่าเทอมค่อนข้างสูง ซึ่งเด็กที่จบมามีงานรองรับ ทางอนุกรรมการฯ มองว่าหากมีการเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้นหรือคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้มีเด็กหันมาเรียนสายอาชีวะมากขึ้น อีกทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เพิ่งประกาศใช้ คิดว่าน่าจะให้เงินส่วนหนึ่งแก่เด็กด้อยโอกาส ช่วยเหลือเด็กที่ยากจนให้มาเรียนสายอาชีวะได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน นอกจากนั้นหลักสูตรจะต้องจูงใจให้เด็กอยากเรียน จบมามีงานทำทันที หลักสูตรต้องเน้นเรื่องของไอที ภาษาอังกฤษ และการอบรมระยะสั้น ปัจจุบันระบบทวิภาคีได้ดึงผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการช่วยให้เด็กอาชีวะเก่งปฏิบัติ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพียง ๑๔ % เท่านั้น  และมีแนวคิดที่จะจัดตั้งเทรนนิ่งเซ็นเตอร์หรือศูนย์ฝึกอบรม การจัดตั้งศูนย์ในระยะแรกมองว่าควรจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอย่างน้อย ๑๐ แห่ง ให้เด็กอาชีวะที่ไม่ได้อยู่ในระบบทวิภาคีเข้ามาฝึกงาน และรัฐควรให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริหารจัดการ ในการสร้างเด็กให้เป็นผู้ประกอบการหลักสูตรจะต้องมีการสอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ การบริหารจัดการ การเงินเบื้องต้น การให้เด็กมีโอกาสได้ทดลองเป็นผู้ประกอบการหรือสถานศึกษามีการจัดตั้งร้านค้าเพื่อให้เด็กได้ทดลองเป็นผู้ประกอบการ ปัญหาเรื่องครูนั้นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมองว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์มาช่วยดูแลเด็กในเชิงปฏิบัติ การส่งครูไปฝึกปฏิบัติกับผู้ประกอบการเพื่อให้ครูมีทักษะความรู้เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเรื่องงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้เด็กไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ทางออก คือ การขอเครื่องมือจากภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณในการดูแลบำรุงเครื่องมือ ส่วนเรื่องอาชีวเอกชนนั้นมองว่าควรให้เงินอุดหนุนที่มีความเท่าเทียมกันกับอาชีวะของรัฐบาล และควรดูแลหรือให้สวัสดิการแก่ครู ถ้าทำให้อาชีวะเอกชนแข็งแรงก็จะแบ่งเบาภาระของรัฐบาลได้มากขึ้น

          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวว่า การจะนำไปสู่การปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ที่ประชุมมีความคิดเห็นว่าจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นใน ๗ ประเด็น ดังนี้ ๑. การให้เรียนฟรีในสาขาที่ขาดแคลน และในพื้นที่พิเศษ ๒.การเรียนระบบทวิภาคีของนักเรียนอาชีวะ ๓. ครูอาชีวะไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ๔. ให้อาชีวะเอกชนได้รับเงินอุดหนุนเท่ากับอาชีวะของรัฐ ๕. ให้กรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านอาชีวะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทางอาชีวะ ๖. ให้สถานประกอบหรือโรงงานมาตั้งอยู่ในวิทยาลัย ๗. ทำอย่างไรให้ผู้เรียนอาชีวะได้รับเงินเดือนของรัฐในอัตราที่สูงขึ้นประมาณ ๗ % ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ต้องนำไปรับฟังความคิดเห็น

 

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด