กอปศ. เตรียมตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรฯ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำและให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กพิเศษ

image

 

         วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๑ ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุม

 

         ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า วันนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับใหม่ ซึ่งได้พิจารณาถึงความจำเป็น ๓ ประการ ๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของการศึกษาไว้กว้างขึ้น และมีหลายประเด็น ๒) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ใช้อยู่ฉบับปัจจุบันเป็นพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๔๕ และ ๒๕๕๓ เมื่อนำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติ ทำให้การศึกษาในปัจจุบันยังเกิดปัญหาอยู่ จึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้เป็นการปรับกฎหมายและต่อยอดเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติฉบับเดิมที่มีอยู่ ๓) โลก และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลข่าวสารค้นหาได้ง่าย ดิจิทัลก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ และดิจิทัลจะมีบทบาทในการช่วยให้การปฏิรูปครั้งนี้ดำเนินการสำเร็จได้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... อย่างละเอียด ทุกขั้นตอน ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ขณะนี้สามารถสรุปได้ว่ามี ๒ อย่างที่ต้องเกิดแน่นอน คือ ๑) สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน เป็นสถาบันที่เกิดขึ้นใหม่และทำหน้าที่ใหม่ โดยมีหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการสอนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการเรียนการสอนอย่างแท้จริง รวมถึงการปรับการเรียนการสอนจากฐานของเนื้อหาสาระไปสู่การสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน และการติดตามประเมินผล ที่จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการศึกษาที่ดี และ ๒) ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษากับคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา คนที่มีความสามารถพิเศษ และผู้เรียนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เห็นได้ว่าพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เห็นความสำคัญกับผู้เรียนเหล่านี้ ซึ่งมีวิธีการดูแลอยู่สองส่วน แบ่งออกเป็นการศึกษาร่วม คือ เข้ามาเรียนรวมอยู่ในระบบการศึกษา และการมีสถานศึกษาเฉพาะสำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเรียนในสถานศึกษาทั่วไปได้ โดยตั้งเป้าว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ นี้

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

         ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ทำหน้าที่ดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ รวมถึงดูแลเรื่องการประเมินผล สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาดูในเชิงระบบของสถาบันนี้ว่าจะรับผิดชอบงานส่วนไหน จะสามารถเชื่อมโยงตัวสถาบันกับหน่วยงานส่วนกลางในระดับประเทศ จังหวัด พื้นที่ และสถานศึกษา ให้สอดรับและไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เน้นไปที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นระบบการเรียนทั้งหลายจะต้องสามารถเชื่อมโยงและเปลี่ยนถ่ายได้ ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนไปเรียนสายสามัญ สายอาชีพ ในทุกช่องทางได้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องไปออกแบบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่ 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด