กอปศ.เปิดร่างพรบ.การปฐมวัย ฉบับใหม่

image

 

          วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคนที่ ๑ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานการประชุม  การประชุมครั้งนี้มีการสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษแห่งชาติฉบับใหม่ และพิจารณาร่าง พรบ.การปฐมวัย พ.ศ. ....

 





          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้นมา โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง ๙ เดือน ซึ่งยังมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน ๕ ประเด็น ได้แก่  ๑) การศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต ๒) การศึกษาตามอัธยาศัย ๓) การศึกษาทางเลือก ๔) การวัดผลและประเมินผลการจัดการศึกษา และ ๕) การสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ทบทวนเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร ต้องมีการเปลี่ยนกรอบแนวคิดของสังคมในรูปแบบไหน จะเปลี่ยนให้สังคมไม่ยึดติดกับปริญญาแต่เปิดโอกาสให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร เปลี่ยนหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นหน่วยสนับสนุนต้องทำแบบไหน และการสร้างศรัทธาให้เกิดที่ผู้เรียนและผู้สอนอย่างไร ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๑ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นั้น ยังมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนอีก ๓ ประเด็น ได้แก่ การศึกษาตามระบบที่มีความหลากหลาย นิยามการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จะมีบทบาทมากขึ้น มีแหล่งให้ค้นคว้าศึกษาทั้ง พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด รวมถึงดิจิทัล  กลไกระบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน คือ การเทียบโอนความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถเทียบโอนระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพได้ ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา โดยครูผู้สอนได้สอนอย่างเต็มที่ ลดงานธุรการ โรงเรียนมีสิทธิในการคิดบริหารงานด้านวิชาการ และการประเมินผลเน้นที่ห้องเรียนและสภาพที่แท้จริงของผู้เรียน ในส่วนคะแนน O-NET นั้นอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่ข้อมูลหลักในการประเมิน






 


 

          รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ  รองประธานคนที่ ๑ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า พรบ.การปฐมวัย พ.ศ. .... ฉบับใหม่นี้ ได้มีคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาช่วยร่าง ในหลักการสำคัญ การพัฒนาเด็กปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยได้ให้นิยามคำว่า เด็กปฐมวัย ว่า “บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าแปดปีบริบูรณ์ และให้หมายความรวมถึงทารกในครรภ์มารดาตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงก่อนคลอดด้วย” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กปฐมวัยอยู่รอดปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี  มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพและความต้องการจำเป็นพิเศษ และสามารถซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ และมีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองและพลโลก ในเรื่องการดำเนินการเป็นหน้าที่ของรัฐในการให้การสนับสนุน ส่งเสริมด้านสาธารณสุข และการเรียนรู้ โดยมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการ ๖ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ในการดูแล พัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ (๑) กำหนดนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (๒) ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนแม่บทในการดูแลและส่งเสริมการดูแลเด็กปฐมวัยซึ่งต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและยุทธศาสตร์ชาติ (๓) อนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (๔) กำหนดมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงหลักสูตรแกนกลางเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (๕) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการเสนอหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (๖) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (๗) แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจหรือคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย (๘) กำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงาน และออกระเบียบให้สำนักงานปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ (๙) ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (๑๐) การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และระหว่างช่วงวัยของเด็ก

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด