ประชุม กอปศ. ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๑ เตรียมตั้งสถาบันหลักสูตร พร้อมปฏิรูปอาชีวศึกษา

image


วันนี้ (๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑) ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ครั้งที่ ๑๑ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา  (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) และที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 






 






การประชุมครั้งนี้มีวาระพิจารณา ๓ วาระ ได้แก่ ๑) ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งสถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ ๒) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา และ ๓) สรุปการประชุมระดมความคิดเห็น “ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ ๔” เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  

 





 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวาระพิจารณาที่สำคัญ ๒ วาระ คือ ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งสถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา ทั้งนี้ กอปศ. ร่วมกับ สกศ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน กล่าวว่า สถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน วางกรอบแนวทางในการจัดการเรียนรู้ การนำหลักสูตรไปใช้ ตลอดจนการวัดและประเมินผล รวมทั้งการพัฒนาคลังทรัพยากรการเรียนรู้ สื่อดิจิทัล และสื่อรูปแบบอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ โดยอยู่ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นนิติบุคคลที่มีอิสระในการบริหารงาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน ๖ คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

ด้าน ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์การจัดการอาชีวศึกษา ว่า การจัดการอาชีวศึกษามีปัญหาที่สำคัญ ๖ ประการ ได้แก่ ๑) การขาดแคลนครูอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งครูยังขาดความเชี่ยวชาญในเชิงปฏิบัติ จึงไม่สามารถสอนนักศึกษาให้เก่งในด้านปฏิบัติได้ ๒) หลักสูตรไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ประกอบการ ๓) การขาดแคลนวัสดุและครุภัณฑ์ที่ทันสมัย ๔) ระบบทวิภาคีมีผู้เรียนร้อยละ ๑๔ จากผู้เรียนอาชีวศึกษาทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการบุคลากรสายอาชีวศึกษา ๕) ผลิตบุคลากรได้ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน และ ๖) การบริหารจัดการอาชีวศึกษาขาดกระบวนการสร้างคนและสร้างเทคโนโลยีควบคู่กันไปอย่างครบวงจร ไม่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนการจัดการศึกษาในสถานศึกษาเอกชนที่เปิดสอนสายอาชีวศึกษาที่ชัดเจน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญร้อยละ ๖๗ และสายอาชีวศึกษา ร้อยละ ๓๓ ขณะที่ประเทศไทยต้องการผู้ที่จบการศึกษาสายอาชีวศึกษาจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕๐ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษาเสนอให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติ หรือ National Training Center เพี่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมทักษะครูและนักเรียนสายอาชีวศึกษา โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งครู เครื่องมือ และหลักสูตรของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยและมีทักษะทางวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น 

 





 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด