กอปศ.พิจารณาปฏิรูปการศึกษาเอกชนและโรงเรียนในกำกับของรัฐ

image

          วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม  การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา และสรุปการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐและการบริหารงานวิชาการ
 
          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การจัดการศึกษาเอกชนมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย จึงต้องสร้างความเข้มแข็ง และให้ความเป็นอิสระแก่โรงเรียนเอกชน  โดยทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนโรงเรียนเอกชนกับนักเรียนโรงเรียนของรัฐ และเพิ่มคุณภาพเชิงวิชาการ โดยแบ่งแนวทางการปฏิรูปออกเป็น ๒ ส่วน ในส่วนแรกเป็นแผนการปฏิรูประยะยาวซึ่งอยู่ในแผนการปฏิรูป เช่น เรื่องการวางแผนเปิดโรงเรียนเอกชนหรือขยายห้องเรียนเอกชน ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา  และการเปิดอนุบาล ๓ ขวบ รวมถึงปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนเอกชน ซึ่งอาจมีงบพื้นฐานและงบเพิ่มเติม หากโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชนมีคุณภาพใกล้เคียงกันจะต้องเพิ่มอะไรบ้างตามตัวแปร ส่วนที่สองเป็นแผนการปฏิรูประยะสั้น ซึ่งโรงเรียนเอกชน มีปัญหาเรื่องเงินอุดหนุน กรรมการเห็นว่าต้องมีการศึกษาวิจัย อย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้โรงเรียนเอกชนทยอยปิดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาในระยะยาว ในส่วนของโรงเรียนนิติบุคคลจากการปฏิรูปครั้งที่ผ่านมาไม่สำเร็จเนื่องจากมีข้อจำกัดและรายละเอียดค่อนข้างเยอะ โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมจึงไม่ยอมเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ในครั้งนี้กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนของโรงเรียน  โดยการเปลี่ยนครั้งนี้แบ่งเป็นโรงเรียนทั่วไปและโรงเรียนกลุ่มพิเศษหรือโรงเรียนในกำกับของรัฐ  โดยจะต้องมีการประกันในเชิงคุณภาพของผู้เรียน ประกันโอกาสของผู้เรียน และไม่ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐเพิ่มขึ้น แนวทางมี ๒ ส่วน คือ ครูต้องได้สอนอย่างเต็มที่ โดยลดงานทางด้านธุรการของครูลง ส่วนที่ ๒ คือ ลดงานโครงการใหญ่ๆ ที่มาจากส่วนกลางลง ให้โรงเรียนมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะความเป็นอิสระในเรื่องการบริหารงานวิชาการ
 
          ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวโดยสรุปว่า โรงเรียนเอกชนมีข้อดีหลายประการ เช่น ท้องที่ใดมีความห่างไกลไม่สามารถจัดการศึกษาได้ โรงเรียนเอกชนถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยรัฐบาลในการจัดการศึกษา และในส่วนของโรงเรียนนานาชาติก็ช่วยสร้างโอกาสพิเศษให้แก่เด็กที่ผู้ปกครองมีฐานะดี บทบาทของโรงเรียนเอกชนจึงมีหลากหลาย มีความคล่องตัวในการบริหารสูงกว่าโรงเรียนของรัฐ และช่วยเพิ่มโอกาสในการเกิดนวัตกรรม  นอกจากนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกหลายเรื่อง และได้จัดประชุมหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียนเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียน
 
          รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน กล่าวว่า คณะกรรมการได้วิเคราะห์สถานการณ์การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา รวมถึงวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน จากการศึกษา วิเคราะห์ปัญหาของโรงเรียนเอกชน พบว่า โรงเรียนเอกชนมีปัญหาเรื่อง เงินอุดหนุน นักเรียนบางส่วนมีฐานะไม่ค่อยดี ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนของรัฐกับโรงเรียนเอกชน อีกทั้งหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่ควบคุม ดูแลโรงเรียนเอกชนยังมีความไม่ชัดเจน ขณะเดียวกับเมื่อเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านอื่นๆ ของโรงเรียนเอกชน พบว่า แม้มีข้อจำกัดหลายอย่างนักเรียนก็มีผลการเรียนที่ดี โรงเรียนมีศักยภาพในการจัดการศึกษา เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายรัฐในการให้เงินอุดหนุนโรงเรียนของรัฐกับโรงเรียนเอกชน ปรากฏว่า โรงเรียนรัฐได้รับเงินอุดหนุน ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อปี ขณะที่โรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุน ๓๙,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อปี โรงเรียนเอกชนจึงเป็นโรงเรียนที่ช่วยรัฐแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐในการจัดการศึกษา และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการศึกษา เพราะฉะนั้นทางคณะกรรมจึงได้พิจารณาหาแนวทางปฏิรูปการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ไม่ให้มีการปิดกิจการลง อีกทั้งมองว่าเด็กควรได้รับสิทธิในการเลือกเรียนระหว่างโรงเรียนของรัฐกับเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
 
          ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐและการบริหารงานวิชาการ โดยเชิญโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการโรงเรียนมาร่วมประชุม และมีการใช้คำว่า “โรงเรียนในกำกับของรัฐ” แทนคำว่าโรงเรียนนิติบุคคล เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าโรงเรียนยังคงเป็นของรัฐ แต่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการด้านบุคลากร วิชาการ งบประมาณ จากการประชุมสรุปเป็นประเด็นได้ว่า ภายใต้ข้อจำกัดทรัพยากรที่มีของโรงเรียนทั้ง ๘ แห่ง ที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีผู้นำหรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความสามารถ ผู้อำนวยการมาจากการผลิตครูระบบคุรุทายาท และมีการสร้างเครือข่ายของผู้บริหาร เพื่อตรวจสอบและกรองข้อมูล นโยบายทางการศึกษา ว่านโยบายไหนมีความเหมาะสม ทั้งนี้กรรมการมีแผนดำเนินการออกกฎกระทรวง ก่อนจะดำเนินการออกเป็น พรบ. เรื่องโรงเรียนในกำกับของรัฐต่อไปในอนาคต

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด