กอปศ.เล็งตั้งหน่วยงานควบคุมการผลิตครู

image

            วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๘/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม  การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปครู และพิจารณากรอบแนวคิดร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... นอกจากนี้ในช่วงบ่ายยังมีการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิบุญสถิรคุณ เข้าร่วมประชุม       

             ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รวบรวมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่ถึงจุดวิกฤต รวมถึงข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจน ในเรื่องของการผลิตครูผลิตต่อปีมีจำนวนเท่าไร ความต้องการกำลังครูที่ต้องจำแนกตามประเภทหรือสาขาวิชา ปัญหาของภาพรวมวิทยฐานะเป็นอย่างไร แนวคิดของเรื่องการคงวิทยฐานะเป็นอย่างไร การช่วยเหลือโรงเรียนหรือดูแลครูโดยเฉพาะครูที่ไม่ใช่ข้าราชการที่เป็นครูอัตราจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามองว่าทุกท่านเป็นครูควรได้รับสิทธิ การยกย่องที่เทียบเท่ากันกับครูที่เป็นข้าราชการ ฯลฯ ทั้งนี้ทาง สกศ. จะรวบรวมข้อมูลและส่งให้คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์พิจารณาและดำเนินการต่อไป

             ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญของการศึกษา ขณะนี้ปัญหาที่ต้องปฏิรูป คือ ต้องปฏิรูปตั้งแต่ต้นทางการผลิตครู ที่ผลิตเกินกว่าการรองรับ ทำให้ผู้เรียนจบครูไม่มีงานทำ ถือเป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล และตัวผู้เรียนเอง อีกทั้งจำนวนอัตราของข้าราชการครูที่มีอยู่ในระบบก็ไม่เพียงพอที่จะการรองรับ ทำให้ในระบบมีทั้งครูที่เป็นข้าราชการ ครูผู้ช่วย ครูอัตราจ้าง บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนสอนคนพิการกลายเป็นการจ้างเหมาครู ทั้งหมดนี้เป็นสภาพที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

              รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการครูและอาจารย์ กล่าวว่า การปฏิรูปครูและอาจารย์มีการมองตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การคัดกรอง การพัฒนาครูที่มีอยู่ในระบบ และการสร้างเส้นทางวิชาชีพครู ปัญหาการผลิตครูของแต่ละสถาบัน คือ การผลิตครูเกิน ไม่ตรงตามความต้องการ ในขณะที่ครูบางสาขามีไม่เพียงพอ จึงมองว่าต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจในการวางแผน วางนโยบาย บริหารจัดการด้านงบประมาณ และด้านวิชาการ รวมถึงการผลิตครูจะต้องเป็นการผลิตในระบบปิด  มีการสนับสนุนงบรายกลุ่ม มีงบประมาณเพียงพอที่จะผลิตครูให้มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ สถาบันผลิตครูแต่ละแห่งต้องมีมาตรฐานหรือเงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น ต้องมีโรงเรียนที่ให้นิสิต นักศึกษาครูได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพกับครูประจำการที่มีคุณภาพสูง มีครูพี่เลี้ยง มีการกำหนดสมรรถนะที่ชัดเจน การผลิตครูเน้นการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง ตั้งแต่ปีแรกจนปีสุดท้าย จนเกิดทักษะความชำนาญ บัณฑิตที่สามารถสำเร็จการศึกษาต้องมีสมรรถนะที่กำหนด ในส่วนการคัดกรองครูนั้น การสอบเพื่อบรรจุปัจจุบันยังไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง จะต้องมีระบบมาตรฐานกลางในการสอบวัดสมรรถนะหลักจากหน่วยงานกลาง และมีการสอบสัมภาษณ์และการสอบภาคปฏิบัติโดยผู้แทนสถานศึกษาที่ต้องการรับสมัครครู ทำให้โรงเรียนมีโอกาสได้คัดเลือกครูที่ตรงตามความต้องการของโรงเรียน มีระบบจูงใจที่สามารถกระจายครูสู่พื้นที่ขาดแคลน เช่น เพิ่มค่าตอบแทน โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ  จูงใจให้ครูอยากไปสอนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน สำหรับการพัฒนาครูระบบการพัฒนาครูทุกวันนี้เป็นการอบรมจึงเป็นการดึงครูออกนอกห้องเรียน จึงเสนอให้มีการพัฒนาครูประจำการและผู้บริหาร โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น การพัฒนาผ่านระบบ Professional Teacher Development Platform ส่วนเส้นทางวิชาชีพครู ควรมีระบบกลไกในการเลื่อนวิทยะฐานะของครู บนพื้นฐานความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล รัฐต้องอำนวยให้ครูและนักเรียนเข้าถึง Nation Digital Learning Platform โดยครูเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ และจะมีการจัดสรรให้มีบุคลากรสายสนับสนุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครูทำหน้าที่สอนได้อย่างเต็มที่

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด