การประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๖/๒๕๖๑

image

         เมื่อวันที่ (๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) ดร. ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์  เลขาธิการสภาการศึกษา ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต  ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ. 

         นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า  วันนี้คณะกรรมการฯ ได้เชิญศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ มาบรรยายเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนที่เป็นอิสระ ทั้งในเชิงวิเคราะห์ รายงานผลการวิจัยต่าง ๆ และจากประสบการณ์  สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีระบบบริหารจัดการของโรงเรียนให้สามารถเพิ่มคุณภาพได้ ประเด็นสำคัญ ๒ เรื่อง คือ  คุณภาพครู และความเป็นผู้นำของผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ด้วย  นอกจากนี้คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้พิจารณาในประเด็นนี้ และได้ชี้ว่าแนวทางดำเนินการที่ได้ศึกษามี ๓ ทาง คือ ๑. ทดลองปฏิบัติให้เกิดผล โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำให้ประสบความสำเร็จ ๒. ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนให้เป็นองค์กรมหาชน เช่นเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  ๓. การยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อจัดระบบการศึกษาลักษณะนี้เป็นพิเศษ  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อตกลงชัดเจนว่าจะใช้แนวทางใด 
           ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาวิจัยของดร.สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ เสนอว่า โรงเรียนในกำกับของรัฐต้องมีทั้งอำนาจและความรับผิดชอบ เพื่อให้มั่นใจเรื่องคุณภาพ และการที่จะเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐได้ต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมก่อน ซึ่งเกณฑ์พิจารณาความพร้อม ควรพิจารณาจากประเทศต่าง ๆ และสรุปว่าควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร เช่น สิงคโปร์ พิจารณาว่าโรงเรียนต้องมีระบบที่ดี มีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่ดีสม่ำเสมอ โรงเรียนมีความมั่นคง ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ เป็นต้น  สำหรับแนวคิดโรงเรียนกำกับของรัฐ ควรให้มีผู้ดูแลโดยตรง แต่การดูแลต้องดูแลแบบห่าง ๆ ไม่ใช่กำกับ ให้สนับสนุนเชิงโนบาย โรงเรียนมีอิสระทางวิชาการ งบประมาณ และการบริหาร  นอกจากนี้ ดร.สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ ซึ่งเป็นราชบัณฑิตได้อธิบายประเภทของ “โรงเรียนนิติบุคคล” ว่ามี ๓ แบบ คือ ๑.พันธสัญญา  (Charter school) เป็นโรงเรียนที่มีการข้อตกลงและทำตามข้อตกลง ๒.โรงเรียนอิสระ (independent school) หรือโรงเรียนเอกชน ๓.โรงเรียนในกำกับของรัฐ  (Autonomous school)

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด