กอปศ.เปิดร่างพรบ.การอุดมศึกษา ชี้จะเป็นประเทศ ๔.๐ อุดมศึกษาต้องเป็น ๔.๐ ด้วย

image

 
 
 
 
 
 

 

วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๑ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ... 


 
 
 

ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีการพิจารณาเรื่องพรบ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ... ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบว่าจะต้องมีการปฏิรูปอุดมศึกษา เพราะต้องปรับให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน ถ้าประเทศไทยจะเป็นประเทศ ๔.๐ จะต้องมีอุดมศึกษาที่เป็น ๔.๐ รองรับด้วย และบุคลากรต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ขณะเดียวกันก็ต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้เพื่อจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ โดยต้องใช้อุดมศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญา โดยการปฏิรูปจะต้องมีการแยกอุดมศึกษาออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา โดยมี พรบ.การอุดมศึกษาฯ เป็นกฎหมายกำกับอยู่ ซึ่ง พรบ.นี้เน้น ๕ เรื่องหลัก ได้แก่ ๑) ความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงการรับผิดชอบต่อผู้ปกครองและนักเรียนด้วย นั่นคือการมีงานทำ มีชีวิตที่ดีขึ้น ตามความคาดหวังของสังคมเมื่อบุตรหลานของท่านเรียนจบ ๒) คุณภาพการศึกษา บัณฑิตที่ผลิตออกมาต้องเข้มแข็ง เข้มข้น ผลิตออกมาตรงกับความต้องการของตลาด และต้องมองถึงอนาคตว่าประเทศจะไปในแนวทางไหนก็ต้องผลิตบัณฑิตไปในแนวทางนั้น และในอนาคตคาดว่าความต้องการของเรื่องดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศยังขาดแรงงานทางด้านนี้อยู่ และการศึกษาไม่ได้หยุดอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการได้รับปริญญา แต่เป็นการศึกษาตลอดชีวิตและตลอดเวลา เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ๓) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่จะใช้ในการแข่งขัน รวมถึงการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปขับเคลื่อน ผลักดันสังคม และเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของการอุดมศึกษา ๔) การบริหารจัดการ นอกจากการวางนโยบายแล้วจะต้องมีแหล่งข้อมูลที่จะใช้ในการทำนโยบาย รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐ เพื่อให้การอุดมศึกษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการอุดมศึกษาดูแลเรื่องคุณภาพที่สมดุลกับความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยในการจัดการ และเสรีภาพทางวิชาการ ๕) บทบาทของสาธารณชน โดยต้องมีข้อมูลสาธารณะที่พ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียนต้องรู้

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กล่าวว่า พรบ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ... จะเปลี่ยนเรื่องการประเมินคุณภาพของอุดมศึกษาเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพ โดยการประเมินขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอุดมศึกษาจะพิจารณา ซึ่งตามร่าง พรบ.การอุดมศึกษาฯ ได้เขียนไว้ใน มาตรา ๓๕  ให้มีคณะกรรมการการอุดมศึกษาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย (๑) ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จำนวนหนึ่งคน (๒) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวนสามคน (๓) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวนสามคน (๔) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอแนะของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน (๕) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ได้รับเลือกกันเองของผู้แทนสภาวิชาชีพ จำนวนหนึ่งคน (๖) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการอุดมศึกษา กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม การเงินการคลังหรือการงบประมาณ ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจ หรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติหรือการปฏิรูปประเทศ จำนวนไม่เกินเจ็ดคน ให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ ประธานกรรมการและกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้ มิให้แต่งตั้งกรรมการตาม (๒) และ (๓) จากผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษา ในขณะที่เข้ารับการสรรหา การสรรหาตาม (๑) และการเลือกกันเองของผู้แทนสภาวิชาชีพตาม (๕) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้พรบ.ดังกล่าวยังเป็นแค่ร่าง พรบ. การอุดมศึกษา พ.ศ. ... เท่านั้น

นอกจากนี้ในช่วงบ่าย กอปศ.ยังจัดกิจกรรม Lunch Talk หัวข้อ Fostering Creativity in 21st Century Education: International experience for Thailand  โดย Mr.Paul Collard (CEO of Creativity, Culture and  Education) ณ ห้องจัดเลี้ยง ชั้น ๒ อาคาร ๒ โดยมีการพูดถึงเรื่องโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไร แนวโน้มการจ้างงาน เกิดอะไรขึ้นในโรงเรียน โรงเรียนจะพัฒนาทักษะที่ต้องการได้อย่างไร และอะไรคือกุญแจสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด