กอปศ. ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ตั้งเป้า พค. ๖๑ พรบ.ปฐมวัยฯ ต้องแล้วเสร็จ

image

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

  

ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า มีงานวิจัยรองรับว่าการลงทุนกับเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะให้ผลลัพธ์ตอบแทนที่มากถึงเจ็ดเท่า นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนได้รับการดูแลและพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วินัยอารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องทำให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะลำบาก จึงเร่งผลักดัน พรบ. การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ...ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ – ๕ เดือนนี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับทุกคน  วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา และดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อรองรับการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ หอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กรุงเทพมหานคร การประชุมนี้จัดขึ้นโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก ผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก ผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็ก สภาครูแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม แรงงาน องค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชน สมาคมผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุมกว่า ๒๐๐ คน

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก กล่าวว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย และเร่งให้อนุกรรมการเด็กเล็กจัดทำร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากภารกิจด้านเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อการศึกษา และเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาด้านเด็กเล็ก เพื่อรองรับบทบัญัติตามมาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้รัฐดำเนินการให้เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนได้รับการดูแลและพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วินัยอารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการด้วย ศาสตราจารย์วิริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ในวันนี้ไปพิจารณาใส่ไว้ในร่าง พรบ. การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ....หลังจากนั้นจะนำร่างพรบ.ดังกล่าวมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง จึงอยากให้ทุกท่านที่มาร่วมประชุมในวันนี้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำพรบ.การปฐมวัยแห่งชาติ อันจะนำไปสู่การดูแลและพัฒนาด้านเด็กเล็กของประเทศไทยต่อไป ซึ่งคาดว่าร่างพรบ.ดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

การประชุมช่วงเช้ามีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นใน ๖ ประเด็น ได้แก่ ๑) กลไกการบูรณาการการบริหารจัดการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย  ๒) สิทธิประโยชน์สำหรับเด็กปฐมวัย และผู้ดูแล  ๓) การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในช่วงอายุ ๖ – ๘ ปี ๔) มาตราฐานสมรรถนะเด็กปฐมวัยสำหรับการดูแล พัฒนาและการจัดการเรียนรู้ ๕) การผลิตและการพัฒนาครูและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง และ๖) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลประชุมกลุ่มย่อย และอภิปรายใน ๖ ประเด็น พร้อมทั้งสรุปผลการประชุม โดยมีรองศาสตราจารย์สุริยเดว ทรีปาตี  และอาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

 
 

ทั้งนี้ข้อสรุปจากการนำเสนอผลประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นที่ ๑) กลไกการบูรณาการการบริหารจัดการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย มีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรมีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระ เข้ามาดูแลเรื่องเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ เห็นควรให้มีฐานข้อมูลและสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ควรมีคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ และในเรื่องขององค์ความรู้ควรมีฐานความรู้เป็นระบบดิจิตอล แต่ไม่เห็นด้วยที่เด็กปฐมวัยต้องมาใช้อุปกรณ์ดิจิตอลมากนัก รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมกันของเด็กในเมืองและต่างจังหวัด ฯลฯ

 
 
 
 
 
 
 
 

ประเด็นที่ ๒) สิทธิประโยชน์สำหรับเด็กปฐมวัยและผู้ดูแล เป้าหมายแรก คือ หญิงตั้งครรภ์หรือมารดา มีความเห็นว่าเกิดความไม่เท่าเทียมในเรื่องของสิทธิ ซึ่งสิทธิจากประกันสังคมน้อยกว่าสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรมีบริการฝากครรภ์ที่ทั่วถึง ไม่เสียเวลา มีสิทธิลาคลอดได้ ๖ เดือน เป้าหมายต่อมา คือ เด็ก เด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างปลอดภัยและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้รับการกระตุ้นสุขภาพ เด็กทุกกลุ่มได้สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ในส่วนผู้ดูแลเด็ก ครูควรได้รับการฝึกและเรียนรู้เพิ่มเติม ได้รับสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย ในกลุ่มครอบครัวก็ควรได้รับความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูเด็ก ประเด็นที่ ๓) การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในช่วงอายุ ๖ – ๘ ปี ซึ่งเป็นระดับที่เชื่อมต่อระหว่างเด็กปฐมวัยสู่เด็กประถมศึกษา ประเด็นที่มีผลกระทบ คือ การสอบเข้าเรียนในแต่ละช่วงชั้น ทำให้การสอบเป็นตัวกำหนดหลักสูตรมากกว่าที่หลักสูตรจะเป็นตัวกำหนดการสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิด ช่วงรอยต่อเด็กต้องได้รับการตรียมพร้อมในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษหลายกลุ่ม หลักสูตรของประถมศึกษาต้นเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องเรียนครบทั้งแปดกลุ่มสาระ แต่ให้เรียนสมรรถนะในการที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัยจากความกดดันรอบด้าน เด็กคิดเป็น อ่านออก เขียนได้ มีทักษะทางภาษา สื่อสารได้ดี มีวินัย ควบคุมตัวเองได้ สร้างความสัมพันธ์ได้ เชื่อมั่นในตัวเอง การวัดและประเมินผลให้เป็นการประเมินพัฒนาการของเด็กไม่ใช่ประเมินเพื่อตัดสินเด็ก ประเด็นที่ ๔) มาตรฐานสมรรถนะเด็กปฐมวัยสำหรับการดูแล พัฒนาและการจัดการเรียนรู้ มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน เรื่องนโยบายจากต้นสังกัดไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้กลไกการวัดและประเมินผลเกิดปัญหา พ่อแม่วัยใสมีมากขึ้น ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของเด็กปฐมวัย หลักสูตรการเรียนการสอนควรเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่เร่งรัดการอ่านการเขียน ครูควรได้รับการพัฒนาศักยภาพ และคุณลักษณะพึงประสงค์ควรทำให้ชัดเจนเป็นประเด็นเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิตอลอยู่รอบๆ ตัวเด็กแต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี ระบบไม่มีการเชื่อมโยงกันตั้งแต่นโยบายจากต้นสังกัด บ้าน โรงเรียน ชุมชน สมรรถนะที่อยากเห็น คือ คุณภาพแท้ หมายถึง นิสัยที่ดี ทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม อ่านเป็น คิดเป็น เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย ประเด็นที่ ๕) การผลิตและการพัฒนาครูและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง หลักสูตรการผลิตครูต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เท่าทันโลก เป็นรายวิชาที่ปฏิบัติได้จริง ได้เรียนเรื่องจิตวิทยาเด็ก สมองของเด็ก การคัดกรองเด็ก นิสิตนักศึกษาต้องสามารถปฏิบัติได้ ควรลงไปสังเกตการสอนตั้งแต่ปีหนึ่ง หลักสูตรควรเน้นการลงมือปฏิบัติ สถาบันควรร่วมกับสถานศึกษาปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู คุรุทายาทเป็นโครงการที่ดีและควรมีต่อไป สถาบันที่ผลิตครูต้องประสานกับโรงเรียนอย่างใกล้ชิดและรับผิดชอบนิสิต นักศึกษาที่ผลิตออกไปเป็นครู มีหน่วยงานรับผิดชอบ กลั่นกรองหลักสูตรให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และประเด็นที่ ๖) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ครอบครัว สถานพยาบาล สาธารณสุข โรงเรียน สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ล้วนมีโอกาสกระทบกับเด็ก ต้องให้ความรู้แก่พ่อแม่ในการดูแลเด็ก สาธารณสุขต้องดูแลให้ความรู้ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ โรงเรียนต้องเป็นห้องเรียนอนุบาลที่แท้จริงไม่เน้นวิชาการ แต่ควรเน้นการเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กมีความสุข ส่งเสริมทักษะชีวิต ได้สัมผัสธรรมชาติ ต้องมีพื้นที่เล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเอื้อต่อเด็กพิเศษ อยากให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและ อปท. มีความเข้าใจเรื่องเด็กปฐมวัย ลดการกวดวิชา ให้ความใส่ใจในการจัดพื้นที่สาธารณะการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม ทั้งพื้นที่สีเขียว แหล่งเรียนรู้ชุมชน มีงบประมาณที่เพียงพอ มีสื่อสร้างสรรค์ ไม่ใช่มีแต่ละครที่มีแต่ความรุนแรง ต้องมีข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงกันได้ สื่อสมัยใหม่ที่พ่อแม่เข้าไปเรียนรู้ได้ และต้องย้ำให้พ่อแม่รู้ว่าไม่ควรใช้สื่อเลี้ยงลูก เพราะจะทำให้เด็กขาดพัฒนาการที่ดี 

 
 
 
 
 
 
 
 

 

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก กล่าวสรุปปิดการประชุมว่า การปฏิรูปเด็กปฐมวัยต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจของการปฏิรูป ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันดูแลสิทธิประโยชน์ของเด็ก สมรรถนะหลักของเด็กต้องได้รับการดูแลและเรียนรู้ ซึ่งการผลิตและการพัฒนาครูต้องมีความสอดคล้องกัน ครูปฐมวัยควรมีบทบาทระหว่างรอยเชื่อมต่อของเด็กปฐมวัยกับเด็กประถมศึกษา กระบวนการผลิตและพัฒนาครูต้องสอดคล้องกับสมรรถนะครู ส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ต้องการหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องปฐมวัยโดยตรง ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางขับเคลื่อน และประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย

 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด