ครม.ไฟเขียว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

image

 
 
 
 

 วันนี้ (วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)  ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ และดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมการแถลงข่าว “ค.ร.ม. อนุมัติ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ณ ห้องศูนย์ประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา อาคาร ๑ ชั้น ๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน กล่าวว่า เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นขั้นต่อไป ดร.ประสาร ย้ำว่า ข้อคิดที่สำคัญมากในเวลานี้ คือ การสร้างความเข้าใจและความคิดที่ถูกต้อง ไม่ใช่สร้างความคาดหวังในเรื่องแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบในงบประมาณที่จำกัด แต่การช่วยเหลือให้ทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นพื้นฐานของเด็กและเยาวชนทุกคนที่จะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคตหากได้รับการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยใช้หลักการบริหารเดียวกันกับกองทุนระหว่างประเทศ มีพันธกิจหลัก ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) กองทุนจะต้องมีฐานข้อมูลที่ดี มีการรวบรวมข้อมูลให้สามารถเข้าถึง วางแผน ชี้เป้า วิเคราะห์ได้ว่าจะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสได้อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถประสานขอได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเหล่านี้ไว้แล้ว ๒) การเสริมพลังในแง่ของทรัพยากรหรือเม็ดเงินในการสนับสนุน เพื่อทำให้การทำงานมีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และจะต้องมีการบริหารจัดการกองทุนที่ดี และ ๓) กลไกในการติดตามตรวจสอบประเมินผลที่ดี สามารถวัดผลได้ว่าทำแล้วได้ผลหรือไม่ อย่างไร ในส่วนของเงินพันล้านที่ครม. อนุมัติ เป็นเงินก้นถุงเพื่อรักษาเสถียรภาพของสำนักงานกองทุน อีกทั้งงบโดยรวมที่ใช้ในการศึกษาอย่างน้อยในแต่ละปี ๕% จะต้องมีการจัดสรรเข้ามาให้กองทุนนี้

สำหรับสาระสำคัญของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสรุปได้ ๗ ข้อ ดังนี้ ๑) กลไกสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ๒) เปลี่ยนกระบวนการจัดสรรงบประมาณเพื่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ๔.๓ ล้านคนจาก “๕๐ สตางค์ สุดท้าย เป็น ๕ บาทแรก” ๓) การบริหารจัดการเป็นอิสระจากระบบราชการ โดยคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอิสระเป็นประธานและกรรมการกองทุน  (สัดส่วนมากกว่าผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง) ๔) ผู้รับประโยชน์กว่า ๒๓ ล้านคน (ร้อยละ ๕๖ ของจำนวนผู้รับประโยชน์ทั้งหมด) เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่เพิ่มหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาฟรีแก่เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน และเด็กวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทีขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งเด็กเยาวชนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา และครูอาจารย์ที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ๕) ดำเนินการโดยอาศัยหลักการความร่วมมือกับหน่วยงานจากทุกภาคส่วนที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ๖) ใช้ระบบสารสนเทศและนวัตกรรมการจัดการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนระบบธรรมาภิบาลของกองทุน ๗) มีการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบภายในและภายนอก รวมทั้งจัดทำรายงานต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และประชาชน เป็นประจำทุกปี

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด