กอปศ. นัด ๒๔ พิจารณากรอบการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และพรบ.การปฐมวัยแห่งชาติ

image

 


      วันนี้ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ครั้งที่ ๒๔ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี มี ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ และดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่อง กรอบการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประเด็นการพัฒนาเด็กเล็ก และกรอบโครงสร้างร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัยแห่งชาติ

 
 


       ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวโดยสรุปว่า ในส่วนของกรอบโครงสร้างและสาระบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัยแห่งชาติ ทางอนุกรรมการเด็กเล็กได้นำเสนอมาทั้งหมด ๑๓ หมวด และ ๑ บทเฉพาะกาล โดยที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อร่าง พรบ.การปฐมวัยแห่งชาติ ทางคณะอนุกรรมการเด็กเล็กจึงรับข้อคิดเห็นในที่ประชุมนำไปปรับแก้ร่าง พรบ. ฉบับนี้ ให้มีความสมดุลครอบคลุมทุกด้านของเด็กปฐมวัย ซึ่งพรบ. การปฐมวัยแห่งชาตินี้ไม่ได้เป็นเพียงพรบ.ทางด้านการศึกษา แต่จะเป็นพรบ.ที่ครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกด้านที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย



 
 


        ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า  การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สำคัญคือ ต้องเปลี่ยนความคิดความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม (mind set)  โดยสรุปได้ ๕ ประเด็น คือ  ๑) เปลี่ยนความคิดความเชื่อสังคมที่ว่าการศึกษาในระดับปฐมวัยเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ต้องจัดขึ้นเพื่อพัฒนาให้เด็กมีพัฒนาการสมดุลทุกด้าน ๒) พ่อแม่ต้องมีความรู้ความสามารถพื้นฐานในการดูแลเด็ก ๓) แนวทางพัฒนาให้เน้นสมรรถนะและทักษะคิดเป็นหลัก ๔) ต้องมีการดูแลเด็กทุกกลุ่ม ทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ๕) พัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการ โดยมีฐานข้อมูลชัดเจน


 


       รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก กล่าวโดยสรุปว่า กรอบการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประเด็นการพัฒนาเด็กเล็กมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดวางและปรับปรุงระบบ กลไก สิทธิประโยชน์และแนวทางการพัฒนา สร้างสรรค์สภาพแวดล้อม ทั้งระบบนิเวศ ที่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลพัฒนาเด็กปฐมวัยและเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกระดับ ที่จะนำไปสู่การสร้างเด็กปฐมวัยคุณภาพ ที่แข็งแรง เป็นคนดี มีจิตสำนึก ใฝ่รู้ ใฝ่พัฒนา และมีความคิดสร้างสรรค์ มีประเด็นเป้าหมายการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยตั้งแต่ปฏิสนธิถึงอายุ ๘ ปี โดยเด็กทุกคนต้องได้รับ ๑) อยู่รอดปลอดภัย สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ๒) พัฒนาการดีรอบด้าน ๓) พัฒนาการเรียนรู้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพสมอง ๔) ซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ๕) ใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย กำกับตนเองได้ ๖) ใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ ๗) มีความคิดสร้างสรรค์ ๘) มีจิตสำนึกในความเป็นพลโลก ทั้งนี้ต้องสอดรับกับความพิการ และความต้องการจำเป็นพิเศษด้วย สำหรับเป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ในร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านปฐมวัย พ.ศ. 2560 – 2579 โดยลำดับความสำคัญสูงสุดไว้ ๘ ประเด็น คือ ประเด็นที่ ๑ เร่งรัดจัดตั้งสำนักงานของคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ ให้เป็นส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฐมวัยแบบบูรณาการของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ให้มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ ประเด็นที่ ๒  การปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (mind set) ของประชาสังคมเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน ประเด็นที่ ๓ พัฒนาระบบฐานข้อมูลบนฐานเลขบัตรประชาชน


 
 
 
 
 
 
 


        ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทุกระบบ ประเด็นที่ ๔ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรระบบการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล ในช่วงรอยเชื่อมต่อ(transition period) ของเด็กก่อนวัยเรียนไปสู่วัยเรียน จนถึงอายุ ๘ ปี (ประถมคึกษาปีที่ ๑ ถึง ๓) ให้สอดคล้องกับหลักการปฐมวัย ประเด็นที่ ๕ จัดสิทธิประโยชน์พื้นฐานของระบบสาธารณสุขและการศึกษาให้ครอบคลุมถึงความพร้อมในการเป็นพ่อแม่ในการดูแลและพัฒนาลูก รวมทั้ง เด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียนให้เด็กได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม ประเด็นที่ ๖ มีครูและบุคลากรด้านการพัฒนาเด็กที่มีความรู้ และทักษะที่สอดคล้องกับหลักการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งครอบคลุมต่อปัญหาและทันต่อสถานการณ์ ประเด็นที่ ๗ เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 


 
 
 
 
 
 


        เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และได้รับบริการสนับสนุนตามความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละบุคคล และประเด็นที่ ๘ เร่งรัดพระราชบัญญัติการปฐมวัยแห่งชาติให้มีผลบังคับใช้ ภายใน ๑ ปี

นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ กอปศ.จะจัดประชุมร่วมกับ TDRI โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นวิทยากรรับเชิญมาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประชุมร่วมกับลูกเสือยุวกาชาด รร.คุณธรรม รร.วิถีพุทธ บวร เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาเพื่อคุณธรรมจริยธรรม 

 
 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด