กอปศ.ประชุมนัด ๑๘ ศ.กิตติคุณจรัสย้ำ! สังคมต้องตื่นตัว เร่งเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายกองทุนฯ

image

 

 

        วันนี้ (วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จัดประชุมครั้งที่ ๑๘ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม มี ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์  เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 

การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคม ซึ่งได้จัดทำ (ร่าง) แผนงานการสื่อสารสังคมเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แบบตราสัญลักษณ์ของ กอปศ. และรายงานถึงความคืบหน้าในการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลต่างๆ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของ กอปศ. สู่สาธารณชน รวมถึงเป็นช่องทางหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 


 
 

        ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การจะปฏิรูปการศึกษาจะไม่สำเร็จถ้าสังคมไม่ตื่นตัว ซึ่งการจะทำให้สังคมตื่นตัวได้คนทุกๆ ระดับ ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ให้ประชาชน สังคมได้รับรู้และตื่นตัว

 



        วันนี้อนุกรรมการกองทุนมีการนำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องการจัดตั้งกองทุนตามมาตรา ๕๔ วรรคหกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย
       

 
 
 



        ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกําหนดให้การบริหารจัดการกองทุน เป็นอิสระและกําหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว) โดยนำเสนอในรูปแบบของคลิปวีดีโอยาว ๕ นาที และนำเสนอร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ตามมาตรา ๕๔ วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังรับฟังความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ และการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด และกรุงเทพมหานคร และได้นำเสนอแผนการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาตามแนวทางของมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วรรคสอง (ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป)  และแนวทางการเสนอร่างกฎหมาย 


 

        ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน กล่าวว่า กองทุนนี้มุ่งช่วยเหลือเด็กเยาวชน ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่แรกเกิดจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งช่วยเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพครู ผู้ดูแลเด็กยากจนและด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ และคาดว่ากองทุนนี้จะสามารถขจัดปัญหาเด็กเยาวชนออกนอกระบบการศึกษา และปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาไทยได้ภายใน ๑๐ ปี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนการศึกษาชาติ ๒๐ ปี  ซึ่งอนุกรรมการกองทุนมีแผนจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นอีก ๒ ภาค คือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้อนุกรรมการกองทุนได้ขอมติที่ประชุมในการพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้อนุกรรมการกองทุนดำเนินการปรับปรุงร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และปรับปรุงแผนการรับฟังความคิดเห็นและแนวทางการเสนอร่างกฎหมายต่อไป 

        นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา และในวันอังคารที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ กอปศ. ได้เชิญแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ประเทศไทย (McKinsey & Company) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา มาประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับ กอปศ. ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา อีกด้วย


 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด