กอปศ. ถก ๖ อนุเร่งปฏิรูปการศึกษาเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นภาคอีสาน

image

 

 


     
 วันนี้ (วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๒ โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย
 ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยที่ประชุมได้นำเสนอผลการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา  


 
 
 
 
 
 
 
 


     รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการเด็กเล็กได้จัดทำประเด็นคำถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน จำนวน ๕ ประเด็น ซึ่งปัญหาที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กเล็ก คือ ควรปรับหลักสูตรปฐมวัยและประถมศึกษาให้มีความสอดคล้องกัน กำหนดให้มีช่วงเวลาเตรียมความพร้อม ๓ สัปดาห์ ก่อนเด็กเข้ารับก่ารศึกษาระดับประถมศึกษา ปัญหาความชัดเจนในเชิงนโยบาย เกี่ยวกับผู้ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาแก่เด็กในช่วงอายุก่อน ๓ ปี ตามรัฐธรรมนูญ ค่านิยมของพ่อแม่เรื่องการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนในแต่ละสังกัด ด้านโภชนาการคุณภาพของนมโรงเรียน มีผลต่อความสูงของเด็ก โดยเฉพาะเกณฑ์ความสูงของเด็กหญิงไม่ได้มาตรฐาน ควรมีการส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดูแล พัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งต้องมีการดำเนินการที่ยืดหยุ่น เพื่อความเหมาะสมในภาพบริบทแต่ละพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา 

     นายไกรยส ภัทราวาท อนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการกองทุน กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าหากกองทุนมีทรัพยากรที่เพียงพอแล้วก็ควรช่วยเหลือสนับสนุนให้เด็กเยาวชนทั้ง 5 กลุ่มให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ แต่หากกองทุนไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะดูแลให้ได้ทุกกลุ่ม ที่ประชุมก็มีความเห็นที่ตรงกันว่าควรเน้นการดูแลสนับสนุนให้เด็กแรกเกิดและเด็กก่อนวัยเรียนได้มีพัฒนาการและความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเต็มที่เทียบเท่ากับเด็กเยาวชนที่มีฐานะปกติทั่วไปของประเทศ กลุ่มเป้าหมายที่ที่ประชุมให้ความสำคัญลำดับถัดมา คือ เด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษาอายุ 6-15 ปี ซึ่งรัฐได้ลงทุนไปกับเยาวชนกลุ่มนี้มากแล้ว การที่กองทุนจะช่วยสนับสนุนให้เด็กเยาวชนยากจน พิการ และด้อยโอกาสประเภทต่างๆ ให้สามารถสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานได้โดยไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาเสียก่อนได้ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กและต่อประเทศชาติมากที่สุด เป้าหมายการดำเนินงานของกองทุนใน 10 ปีข้างหน้า เด็กเยาวชนผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นหวังอยากจะเห็นสังคมไทยที่ปราศจากเด็กเยาวชนวัยเรียนที่ต้องไปขอทานและทำงานเพื่อส่งเสียตัวเองให้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยากให้กองทุนเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดได้โดยไม่ต้องกังวลถึงอุปสรรคความยากจนของครอบครัว และเด็กเยาวชนยังอยากเห็นสังคมไทยที่ปลอดจากปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาภายใน 10 ปีข้างหน้า และที่ประชุมให้ความเห็นว่าเงินสนุนของกองทุนควรมาจากหลากหลายแหล่งเงิน เพื่อความมั่นคงและยืดหยุ่นของกองทุนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 

         นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน กล่าวว่า ในวันที่ 21 สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ทางอนุกรรมการกองทุนได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีคนยากจนแบบมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ และจากการพูดคุยสอบถามเด็กพบว่ามีปัญหาในเรื่องของการจัดสรรเงินทุนที่เด็กควรจะได้รับ เนื่องจากการเรียนนั้นเด็กอาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แฝงอยู่ ซึ่งเงินทุนที่เด็กได้รับอาจมีความไม่เพียงพอ จนส่งผลให้เด็กที่ยากจนต้องลาออกจากโรงเรียน และเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ทำงานประจำก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงาน 

         ผศ.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ประธานอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน กล่าวว่า คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอนได้จัดทำประเด็นคำถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน จำนวน ๙ ประเด็น ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นในกรณีกลุ่มเด็กพิเศษมีความจำเป็นต้องมีระบบคัดกรองที่เหมาะสมกับวัยและเป้าหมายที่ต้องการ และกลุ่มเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง ควรทบทวนระดับชั้นในการคัดกรองให้มีความเหมาะสม ในเรื่องของหลักสูตรควรมีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับต่อแนวทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับความถนัดของผู้เรียน ที่ผู้เรียนจะมีความสามารถหรือความถนัดที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ควรลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยผู้เรียนเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนครบทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่เน้นการอ่านออก เขียนได้ และการคิดวิเคราะห์ หลักสูตรท้องถิ่นต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงกับความต้องการทางอาชีพของท้องถิ่นนั้น และหลักสูตรการศึกษาในแต่ละกลุ่มสาระต้องจัดลำดับเนื้อหา/องค์ความรู้ให้มีความเหมาะสมกับแต่ละระดับการศึกษา อาทิ หลักสูตรอาเซียน ต้องจัดลำดับเนื้อหาให้เหมาะสมแทนการใช้เนื้อหาที่เหมือนกันในทุกระดับชั้น ควรมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบ Active Learning ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สร้างให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ เกิดความคิดรวบยอด ควรปรับการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้มีความน่าสนใจ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นสร้างให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าของงานและวิธีทำงาน และสามารถพัฒนางานไปสู่ผลที่ดีขึ้น การทดสอบ O-NET ควรมีการสุ่มประเมินในโรงเรียน ทั้งนี้หากมีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning จะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาใช้ในการทดสอบทั้ง O-NET และ PISA ได้ มีการประเมินมาตรฐานความสามารถทั้งด้านเนื้อหาและการสอนของครูก่อน แล้วจึงจัดโปรแกรมพัฒนาครูที่เหมาะสมกับครูแต่ละคน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระดับสถาบัน ที่เป็นกลางและมีความอิสระทางวิชาการ มีภารกิจในการพัฒนาหลักสูตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิจัย จัดทำ ส่งเสริม สนับสนุนการนำไปใช้ และการติดตามประเมิน และที่สำคัญควรสนับสนุนระบบการนิเทศก์การศึกษา โดยศึกษานิเทศก์ให้มีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ

          นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเห็นด้วยกับรูปแบบโครงสร้างการศึกษาฯ ที่แยกเป็น Policy (ฝ่ายบริหารนโยบายของรัฐ) , Regulator (ฝ่ายกำกับโดยภาคประชาสังคม)  และ Operator  (ฝ่ายปฏิบัติ) เห็นด้วยกับความมุ่งหมายและหลักการในการปฎิรูปโครงสร้างทางการศึกษาที่กำหนดไว้ ๖ ข้อ ได้แก่ ๑) ตอบสนองต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างได้ผลและต่อเนื่อง ๒)ยึดเอาหน่วยงานปฏิบัติคือสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา ๓) การกระจายอำนาจและการถ่วงดุล ๔) ความเป็นมืออาชีพ ๕) มีความอ่อนตัว ทันสมัย และเรียบง่าย และ ๖) ครอบคลุมทุกมิติการศึกษา สนับสนุนให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมเป็นนิติบุคคลอย่างเต็มรูปแบบมีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารจัดการทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านบริหารงานบุคคล ด้านงบประมาณ และด้านบริหารทั่วไป และควรจัดระดับความพร้อมของสถานศึกษานิติบุคคลให้ชัดเจนว่ามีความพร้อมในระดับใด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างชัดเจน เห็นด้วยที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน(รัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม) เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่  โดยเฉพาะในระดับพื้นที่จะต้องให้มีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารจัดการสถานศึกษา การเสนอความคิดเห็น การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ร่วมคิดร่วมทำมากขึ้น  การแยกระบบการศึกษาในระดับชาติออกเป็น ๓ ฝ่าย ได้แก่ Policy  Regulator  และ Operator ถือเป็นกรอบใหญ่  ส่วนในระดับพื้นที่ ควรจะมีการแบ่งแยกเช่นเดียวกันคือ ในระดับจังหวัด ควรมีสภาการศึกษาจังหวัดเป็น Regulator  ส่วนในระดับอำเภอนั้น ควรจะมี สภาการศึกษาอำเภอเป็น Regulator  เพื่อให้เกิดความสมดุลและถ่วงดุลกันในทุกระดับ การออกแบบโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ต้องกำหนดให้ชัดว่าหน่วยงานใด หรือองค์กรใดจะต้องทำหน้าที่อะไรใน ๓ ฝ่าย(Policy  Regulator  และ Operator)   และโครงสร้างของกระทรวงฯ ควรมีขนาดที่เล็กลงทั้งในเรื่องของบุคลากร บทบาทอำนาจหน้าที่ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ  มีระบบการติดตามตรวจสอบที่ชัดเจน 

          ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานอนุกรรมการครูและอาจารย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ได้รับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน โดยสรุปสาระสำคัญแยกเป็น ๕ ประเด็น ประเด็นที่ ๑ แนวทางการผลิต “ครู” ที่ควรจะเป็นในสำหรับยุคปัจจุบันและอนาคต สถาบันในการผลิตครูควรจะต้องเป็นสถาบันของรัฐ โดยจะต้องมีโรงเรียนเครือข่ายหรือมีสถานที่สำหรับใช้บ่มเพาะฝึกหัดและพัฒนาครู เพื่อให้ได้ครูที่มีจิตวิญาณของเป็นครูอย่างแท้จริง อีกทั้งให้รู้จักประสบการณ์ในวิชาชีพครู มีคุณธรรม จรรณาบรรณ และวินัยของครู โดยมีครูที่ประสบการณ์ในการสอนเป็นพี่เลี้ยง อีกทั้งหลักสูตรในการผลิตครู จะต้องสร้างครูที่มีคุณลักษณะ ๑) มีจิตวิญญาณในความเป็นครู ๒) มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ในแก้ผู้เรียน ๓) มีความความรู้ในการจัดแผนการสอนและการทำวิจัยในชั้นเรียน ๔) มีทักษะ Facilitator และ ICT ประเด็นที่ ๒ แนวทางการคัดกรองคนที่จะมาเป็น “ครู”ต้องมีการสร้างแรงจูงใจ เพื่อทำให้ได้คนเก่ง คนดี เข้ามาเป็นครู โดยต้องทำให้วิชาชีพครู เพื่อให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นวิชาชีพควบคุม อีกทั้งการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นครูต้องมีการวัดจิตวิญญาณของความเป็นครู ประกอบกับจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และความมีวินัย เพื่อให้เป็นต้นแบบที่ดีของนักเรียน ประเด็นที่ ๓ ควรจะมีรูปแบบการพัฒนาครูประจำการ ผู้จะมาเป็นครูจะต้องผ่านกระบวนการเรียนการสอนอย่างอย่างเข้มข้น โดยให้มีทักษะกระบวนการถ่ายทอดความรู้ และหลักสูตรในการผลิตครูจะต้องเน้นการสอนเชิงรุก active learning โดยครูจะต้องได้มีการฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การพัฒนาครูจะต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละท้องที่ด้วย ประเด็นที่ ๔ แนวทางการเลื่อนวิทยฐานะของครูควรประเมินจากผลสัมฤทธิ์และพัฒนาการจากการอ่านออกเขียนได้ของผู้เรียน และควรมีระบบการประเมินแบบผสมผสานและหลากหลาย คำนึงถึงการทำผลงานประกอบกับการพัฒนาการของผู้เรียน โดยให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการประเมินการเลื่อนวิทยฐานะของครู ประเด็นที่ ๕ แนวทางการพัฒนา “อาจารย์” ในระดับอุดมศึกษา อาจารย์ในระดับอุดมศึกษาอาจารย์ถือว่าเป็นบุคลากรที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแม่พิมพ์ของผู้ที่จะมาเป็นครู ดังนั้นจึงต้องมีคุณลักษณะหรือทักษะที่จำเป็นสำหรับใช้ในการสอน 

         ทั้งนี้ในวันที่ ๒๕ – ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจะลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ โรงแรมธนินทร กรีนปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด



image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด