สกศ. จัดประชาพิจารณ์ “ข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยของคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ภายใต้กรอบเร่ง - ร่วม - เริ่ม - พัฒนา ต่อยอดสร้างคนไทยแห่งอนาคต

image

 


                   วันนี้ (๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา ให้การต้อนรับประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ดร.ตวง อันทะไชย) ในการประชุมเพื่อพิจารณา “ข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยของคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้แทน ๕ องค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดโดยสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. 

                   ดร.ตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สนช. ได้จัดทำรายงานวิจัยและข้อเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยเพื่อเสนอแก่กระทรวงศึกษาธิการ โดย สกศ. เป็นเวทีส่วนกลางรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ไม่ใช่แค่ ศธ. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษาเพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป แต่เรื่องการจัดการศึกษาได้ขยายวงกว้างออกไปเกี่ยวข้องกับอีกหลายหน่วยงานและทุกภาคส่วน จึงกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ดังนั้น กมธ.การศึกษาและกีฬาฯ จึงขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้อง โดยโจทย์สำคัญที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการคำตอบคือเมื่อปฏิรูปการศึกษาแล้วประชาชนได้อะไร ซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความก้าวหน้าสูง เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ รวมทั้ง ญี่ปุ่น ล้วนเป็นประเทศที่แพ้สงครามแต่ใช้การศึกษาสร้างชาติ พัฒนาคน และยกระดับประเทศจนก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจของโลกด้านเทคโนโลยี

                   ดร.ตวง อันทะไชย กล่าวว่า โจทย์สำคัญการปฏิรูปการศึกษาคือเด็กและประชาชนได้อะไร โดย กมธ.การศึกษาและกีฬาฯ ขับเคลื่อนจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอารณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ และมาตรา ๒๕๘ จ ที่ระบุชัดเจนว่า การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเขียนอุดมการณ์ชาติด้านการศึกษาที่บัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญฯ รองรับทิศทางประเทศไทย ๔.๐ ภายใต้แนวคิดของแผนยุทธศาสตร์ “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ ไปสู่แผ่นดินแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยขับเคลื่อนคนไทย ๓ สาย ประกอบด้วย         ๑.สายวิชาการ ๒.สายวิชาชีพ และ ๓.สายเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่แผนยุทธศาสตร์นี้ส่งเสริมคนไทยมีความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะตัว เปลี่ยนแนวคิดจากการสอนแบบท่องจำ (Passive learning) เป็นการสอนเด็กไทยรู้จักคิดวิเคราะห์เป็น (Active learning) 


                   กรอบยุทธศาสตร์ของ กมธ.การศึกษาและกีฬาฯ เน้นขับเคลื่อน ๔ แนวทาง คือ ๑.เร่ง เน้นที่การปรับปรุงโครงสร้าง หลักสูตรการเรียนการสอน ส่งเสริมด้านอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา กระจายอำนาจให้เป็นสถานศึกษานิติบุคคล สอดคล้องตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙  ๒.ร่วม ส่งเสริมการพัฒนาชุมชน การวิจัยและพัฒนา จัดการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตรองรับการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงวัย ๓.เริ่ม ปรับกระบวนคิดและพัฒนาคนไมยให้รู้จักความพอเพียง กระจายโอกาสและการมีส่วนร่วมด้านการศึกษา สร้างสมดุลวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และ ๔.พัฒนา คุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำอย่างไรครูจึงมีจิตวิญญาณความเป็นครู จัดระบบการผลิตและการใช้ครู ส่งเสริมครูให้มีความรู้ทันโลกและการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจครู นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมประสิทธิภาพสถานศึกษาขนาดเล็ก ระบบประเมินผล สอนอย่างไร สอบอย่างนั้น และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต     
                   สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยของ กมธ.การศึกษาและกีฬาฯ ครอบคลุม ๑๔ ประเด็น ๓ ระยะ แบ่งเป็น ๑.ยุทธศาสตร์ระยะสั้นเร่งด่วน ปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ จำนวน ๗ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างปฏิรูปการศึกษา ยุทธศาสตร์ปรับปรุงระบบหลักสูตรและจัดการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบประเมินคุณภาพการศึกษา ยุทธศาสตร์พัฒนาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาพัฒนาชาติ ยุทธศาสตร์สนับสนุนและส่งเสริมโรงเรียนนิติบุคคลรูปแบบใหม่ ยุทธศาสตร์พัฒนาประสิทธิภาพโรงเรียนขนาดเล็ก และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบประเมินคุณภาพการศึกษา ๒.ยุทธศาสตร์ระยะกลาง ดำเนินการภายใน ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๕) จำนวน ๔ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาและเครือข่ายเรียนรู้ (iNET) ยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ยุทธศาสตร์ปรับระบบการคลังเพื่อการศึกษา และยุทธศาสตร์พัฒนาชุมชนการเรียนรู้เพื่อความสุขอย่างพอเพียง และสุดท้าย ๓.ยุทธศาสตร์ระยะยาว ดำเนินการภายใน ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๗๕) ประกอบด้วย ๓ ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ขยายโอกาสและการมีส่วนร่วมทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ปรับกระบวนทัศน์คนไทยให้พอเพียง และยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาตลอดช่วงชีวิต

                   ด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. จะได้สรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปแก้ปัญหา พัฒนา และต่อยอดนโยบายยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยตามแนวทางของ กมธ.การศึกษาและกีฬาฯ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป  
 
   



 
   



 
   
   
   



 
   
   
   

 

 



   
   
   
   

 

   
   
   
   

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด