กอปศ. และ สกศ. ระดมความคิดเห็น เรื่อง ข้อเสนอประเด็นปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

image

 


           เมื่อวันที่ ๑๖  สิงหาคม ๒๕๖๐ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) และสำนักงานเลขาธิการสภากรรมการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง ข้อเสนอประเด็นปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา  ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นประธานการประชุม  ณ ห้องประชุม กำแหง  พลางกูร  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 
 



           ในการประชุมครั้งนี้ ประธานอนุกรรมการฯ แต่ละชุดนำเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามีประสิทธิภาพ บรรลุตามเป้าหมายและสามารถนำผลการดำเนินงานดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาชาติ โดยคณะอนุกรรมการฯ แต่ละชุดได้นำเสนอประเด็นคำถามต่าง ๆ เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน  โดยมี นายบุญเลิศ   คชายุทธเดช อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม เป็นผู้ดำเนินรายการ  สำหรับประเด็นรับฟังความคิดเห็นของแต่ละคณะ  มีรายละเอียด ดังนี้

 
 



คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก นำเสนอโดย ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานอนุกรรมการ ประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น คือ ๑)การแบ่งช่วงอายุเด็กปฐมวัย ๔ ช่วงอายุ ๒) เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๓) หลักการการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ปฏิสนธิ ถึง ๘ ปี ๔) การแบ่งแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน แบ่งออกเป็น ๑.หน่วยให้บริการ  ๒.หน่วยให้งบประมาณและกำกับดูแล(ท้องถิ่นและส่วนกลาง) ในแต่ละช่วงวัย ซึ่งหน่วยที่กำกับอาจปรับเปลี่ยนได้ตามทิศทาง การดำเนินการของระบบโครงสร้าง และ ๕) การออกแบบกลไกการบริหารจัดการที่บูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) 

 

 

           คณะอนุกรรมการกองทุน  นำเสนอโดย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล  ประธานอนุกรรมการกองทุน
ประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น คือ  ๑)  จากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย เด็กเยาวชนกลุ่มใดควรได้รับการช่วยเหลือจากกองทุน  ๒) กองทุนควรช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างไรบ้าง     ๓)  ที่มาของเงินทุนสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ๔) ความคาดหวังผลการดำเนินงานของกองทุนภายใน ๑๐ ปี และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอื่น ๆ 

 

 
         คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน นำเสนอโดย ผศ.ดร. ยุวดี  นาคะผดุงรัตน์ ประธาน
อนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน ประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น คือ ๑) การอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง และความเสี่ยงทางพฤติกรรม เช่น ควรมีระบบคัดกรองเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่องและความเสี่ยงทางพฤติกรรม ตั้งแต่ ป. ๑ หรือไม่   ควรจัดให้กลุ่มเด็กพิเศษได้เรียนร่วมกับเด็กปกติหรือไม่ ๒) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคบังคับ ควรกำหนดให้ทุกช่วงขั้นเรียนครบทั้ง ๘ กลุ่มสาระหรือไม่  ควรมีการปรับหลักสูตรหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ  ๓) การจัดการเรียนการสอนของครู เช่น การจัดทำชุดการสอนสำเร็จรูปคุณภาพสูงให้ครูที่ยังมีประสบการณ์ไม่มาก จะช่วยให้นักเรียนเกิดคุณภาพทัดเทียมกันหรือไม่ ฯลฯ ๔) การพัฒนาสื่อการสอน เช่น ควรให้มีระบบและกลไกในการรวบรวม คัดเลือก สื่อการสอนแบบเปิด เพื่อให้ครูสามารถเลือกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ฯลฯ  ๕) การวัดผล/ประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น การวัดและประเมินผลการเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษา ป.๑- ป.๓ และ ป.๔-ป.๖ ควรกำหนดเช่นไร  ๖) การพัฒนาครู เช่น ควรมีการประเมินมาตรฐานความสามารถทั้งด้านเนื้อหาและการสอนของครูก่อน  จึงจัดโปรแกรมพัฒนาครูที่เหมาะสมกับครูแต่ละคนใช่หรือไม่  ใครควรเป็นผู้ประเมินความสามารถทั้งด้านเนื้อหาและการสอนของครู และควรประเมินอย่างไร ๗) การสอบวัดมาตรฐารระดับชาติ  หากจะใช้ o-NET เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการเรียนรู้ระดับชาติของนักเรียนแต่ละช่วงชั้น ควรมีการสุ่มสอบระดับโรงเรียนและนักเรียนหรือไม่  ๘) ประกันคุณภาพการศึกษา   ระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่ควรจะเป็นควรมีลักษณะใด  ๙) การจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้  เช่น การจัดตั้งหน่วยงานระดับสถาบันที่เป็นกลางและมีความอิสระทางวิชาการมีภารกิจในการพัฒนาหลักสูตรอย่างครบวงจรตั้งแต่ การศึกษาวิจัย จัดทำ ส่งเสริม สนับสนุนการนำไปใช้และการติดตาม ประเมิน เหมาะสมหรือไม่

 
 


            คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง  นำเสนอโดย ดร.ไพรินทร์  ชูโชติถาวร ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง   ประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น คือ ๑)การแยกระบบการศึกษาไทยออกเป็น ๓ ฝ่าย  ฝ่ายนโยบาย  ฝ่ายกำกับ และฝ่ายปฏิบัติ ๒)การถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายกำกับ ๓) ความเป็นอิสระทางการศึกษาของฝ่ายปฏิบัติ หรือสถานศึกษา ๔) ความเสมอภาคในการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ๕) การเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐจากการบังคับบัญชาเป็นการกำกับดูแล และ ๖)การเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น ศาสนสถาน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และสถาบันครอบครัวในการจัดการศึกษา  

 
 
 


           คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ นำเสนอโดย ดร.วิวัฒน์ ศักยกำธร ประธานคณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ ประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น คือ ๑) ทำอย่างไรจะสามารถจูงใจ “คนดี คนเก่ง” ให้มาเป็นครู  อาจารย์ ผู้บริหาร บุคลากรฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ๒) ควรมี “รูปแบบการพัฒนาครูประจำการ” อย่างไรให้ตอบโจทย์การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑  ๓)  สถาบันการผลิตครู ควรเป็นรูปแบบใดจึงเหมาะสม ๔)  แนวทาง “การพัฒนาผู้บริหารอย่างมีคุณภาพ” ควรเป็นอย่างไร ๕)  ถ้าการศึกษาตามกรอบรัฐธรรมนูญ หมายถึง การให้การศึกษาแก่คนทั้ง ๗๐ ล้านคน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงผู้สูงวัย ผู้ที่เป็น “ครู” ควรมาจากไหนได้บ้าง ๖) ทำอย่างไรให้เกิด “การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในแต่ละช่วงวัย” ๗) ท่านเห็นปัญหา /ข้อแนะนำ/และเห็นโอกาสอย่างไร  ๘) ท่านคิดว่ามีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ที่จะ “ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศไทย”

หลังจากนั้นผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้  

 
 


            ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวโดยสรุปว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องกล้าที่จะตั้งเป้าหมายให้สูง เช่น  เด็กไทยในอีกยี่สิบปีข้างหน้าจะสู้สิงคโปร์ได้  และต้องพยายามส่งเสริมให้ผู้ปกครองและดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น  ทั้งนี้มี ๓ สิ่งสำคัญที่จะเป็นปัจจัยความสำเร็จ คือ เทคโนโลยี ประเทศควรมีเทคโนโลยีที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดหรือ Big data ที่รู้ว่าเด็กอยู่ที่ไหน พ่อแม่ทำอะไร และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการบริหาร  ประเมินผล ด้วยข้อมูลจริง นอกจากนี้ควรเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และมีกติกาใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษามากยิ่งขึ้น 
 
 
 


          ศาสตราจารย์ ดร. ศรีราชา  วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทย กล่าวโดยสรุปว่า การพัฒนาคนต้องเน้นให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริตก่อนที่จะเป็นคนเก่ง  การพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องทำอย่างจริงจัง ต้องสร้างคนที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กอย่างมืออาชีพ ครูควรเป็นต้นแบบที่ดี ปัจจุบันมีเด็กที่เบี่ยงเบนทางเพศมากขึ้น หากคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ  การผลิตครูต้องหาครูที่เป็นต้นแบบที่ดีด้วย  การผลิตครูต้องเน้นให้มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอน มีการทำวิจัยและพัฒนา สำหรับการลดความต่างด้านคุณภาพการสอนนั้น สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยผลิตสื่อการเรียนการสอน เป็นนวัตกรรมที่ผลิตแล้วใช้ได้ทั่วประเทศ การสอบควรเหมือนทั้งหมด  สอบทางคอมพิวเตอร์ สอบเสร็จประเมินผลด้วยคอมพิวเตอร์ นอกจานี้และการประเมินครูควรประเมินจากผลการเรียนของเด็กไม่ใช่มุ่งแต่เอกสารเหมือนในปัจจุบัน  สำหรับเรื่องกองทุน ควรพิจารณาว่ามีเงินทุนพอไหม และนำไปใช้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์บ้างหรือไม่

 


            ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล  นิติไกรพจน์  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปว่าครูเป็นหัวใจของการปฏิรูปศึกษา ปัญหา คือ ปัจจุบันวิชาชีพนี้น่าสนใจพอให้คนดี คนเก่ง สนใจมาประกอบอาชีพนี้หรือไม่  บางครั้งครูต้องทำภาระงานบางอย่าง นอกเหนือจากการสอน เช่น เสริฟน้ำ  จัดเลี้ยงต้อนรับ จึงทำให้คนไม่อยากมาเป็นครู   การจะทำให้คนสนใจต้องทำให้เห็นว่าเป็นวิชาชีพที่น่าภูมิใจ มีหลักประกัน มีเงินเดือนที่เหมาะสม พบว่าระยะหลังมีเด็กสนใจเรียนครูมากขึ้น  ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนอาจไม่ต้องเน้นมาก เพราะเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนสามารถจัดได้ สิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การอำนวยความสะดวกเรื่องเทคโนโลยี  เครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม  นอกจากนี้ โครงสร้างเป็นเรื่องที่สำคัญ การคิดโครงสร้างต้องตัดสินใจว่า ควรเป็นไปในทิศทางใด โครงสร้างต่างๆ ควรไปในทิศทางเดียวกัน และนโยบายต้องชัดเจน เช่น แต่ก่อนเน้นว่าคนไม่เรียนครู ไม่สามารถเป็นครูได้ แต่ปัจจุบัน คนที่ไม่เรียนครูสามารถเป็นครูได้ ซึ่งอาจทำเพื่อลดความขาดแคลนในบางสาขา แต่อย่างไรก็ตามคนที่เรียนครูมาโดยตรงอาจรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในหนทางอาชีพ เพราะอาจไปเรียนด้านอื่นและค่อยมาเป็นครูก็ได้ จึงควรกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจน   สำหรับเรื่องกองทุน ต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนว่า เป็นกองทุนที่ทำเพื่อความเสมอภาค หรือเพื่อความเป็นเลิศ  ปัจจุบันมีการจัดกองทุนหลายกองทุน จึงควรพิจารณาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน 

 
 
         

          นายเรืองชัย  ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการบริษัทมติชนจำกัด (มหาชน) กล่าวโดยสรุปว่า ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะสำหรับเด็ก ครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การสอนเด็กควรให้เด็กได้เรียนรู้ตามวัย ไม่สอนเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ และควรให้อิสระกับเด็กในส่วนของครูนั้น อยากฝาก คำว่า “ครูอัตราจ้าง”  “ครูชั่วคราว” เป็นคำที่อาจทำให้คนสอนไม่มีกำลังใจ

ท่านสามารถดูภาพถ่ายได้ที่


image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด