ประชุม คกก. อิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นัด ๑๐ เน้นปรับระบบการดูแลจัดการศึกษา กระจายอำนาจสู่หน่วยงานในพื้นที่

image

 

 

             วันนี้ ( ๑ สิงหาคม ๒๕๖๐) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๐ โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม มี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์  ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นอกจากนี้ที่ประชุมได้เชิญ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้ามาให้ข้อมูลแนวทางการปฏิรูปการศึกษากับความรับผิดชอบทางการศึกษา ทั้งนี้ที่ประชุมมีการนำเสนอทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มาเป็นกรณีศึกษาในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย โดยเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาไทย เพื่อกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา อีกทั้งต้องการให้โรงเรียนกลายเป็นนิติบุคคลแบบเต็มตัว เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดจากภาครัฐ รัฐบาลต้องการให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษานำพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติและพระราชบัญญัติแผนปฏิรูปประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการศึกษา


 
 
 
 
 
 
 
 

             นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาวันนี้ มีประเด็นที่สำคัญคือการตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา ๒ อนุกรรมการ คือ ๑) การพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะต้องมีการยกร่างเพิ่มเติมขึ้นโดยพิจารณาหลักการที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒) การพิจารณาเรื่องบทบาทของรัฐกับเอกชน เกี่ยวกับโรงเรียนเอกชนที่จะมีความสัมพันธ์กับรัฐ ในการปฏิรูปการศึกษาต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ร่วมมือร่วมใจกัน มุ่งให้เกิดการศึกษาที่ดี โดยต้องมีศรัทธาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน นักเรียน ขณะเดียวกันต้องเกิดจากการมีส่วนร่วม ผู้ที่อยู่ในภาควิชาการด้านการศึกษา ภาคประชาสังคม โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป จึงจะเกิดผลความสำเร็จได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับระบบการดูแลจัดการศึกษากระจายอำนาจสู่หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานในระดับนโยบายจะมีส่วนในการสนับสนุนและกำกับดูแล

 
 
 
 


             การปฏิรูปมุ่งไปสู่การศึกษาดี แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ไม่ดี แก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่ตรงกับเป้าหมาย เช่น การศึกษาที่สร้างแรงงานขึ้นมา แต่ไม่สามารถใช้ในตลาดแรงงานได้ การศึกษาที่ทำให้คนบางคนหลุดออกจากระบบกลายเป็นคนที่เสียอนาคต หรือไม่มีอนาคตที่ดีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนึกถึงคนเหล่านี้ทั้งหมด 

             การดำเนินงานครั้งต่อไป นำประเด็นหารือที่ได้รับการพิจารณาสังคมจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาแนวทางการปฏิรูปร่วมกันในอนาคต กำหนดจัดในวันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนระดมความคิดเห็นจาก ๔ ภูมิภาค โดยจัดประชุมระดมความคิดเห็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรก ณ จังหวัดร้อยเอ็ด ในวันพฤหันสบดีที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ 

 

 

             ดร. สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  นำเสนอเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาไทยกับความรับผิดชอบทางการศึกษา”  โดยสรุปว่า  ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังขาดกลไกเรื่อง ความรับผิดชอบด้านการศึกษา ดังนั้นไม่ว่าผลการเรียนออกมาเช่นไร หรือการผลิตนักเรียนออกมาไม่ได้ตามคุณลักษณะที่ต้องการก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ  ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องปฏิรูประบบให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น  การผลิตนักเรียนต้องให้อ่านออก เขียนได้ คิดได้  สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ควบคู่กันไปให้ได้ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นต้องมีครูที่มีความสามารถสูง ครูที่เป็นมืออาชีพ  สังคมจึงต้องสร้างครูให้เป็นครูมืออาชีพ  มีเกียรติ  มีผลตอบแทนที่ดี การปฏิรูปครูต้องฝึกหัดครูให้เชี่ยวชาญตั้งแต่การผลิต และเมื่อครูเข้าสู่ระบบแล้ว ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแม้จะมีครูดีแล้ว แต่หากการประเมินหรือข้อสอบที่ออกยังไม่ดี  ยังไม่สามารถวัดความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนได้ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ   


 
 

             การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังไม่สำเร็จแม้จะดำเนินการมาหลายครั้ง เนื่องจากมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกัน การแก้ไขต้องแก้ไขทั้งระบบ ทั้งเรื่องนโยบาย ครู การเรียนการสอน การประเมิน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมาช่วยกันคิดให้ตกผลึกว่าประเทศของเราต้องการการศึกษาแบบใด  และระบบที่ดีควรเป็นอย่างไร และร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น  ปัญหาอย่างหนึ่งคือ การเมืองขาดเสถียรภาพ  นโยบายกับการปฏิบัติไม่ประสานกัน เหมือนการทำงานยอดเขากับตีนเขา เมื่อสั่งการลงมา แต่ขาดการประสานเชื่อมโยงกัน การปฏิบัติก็ไม่ถึงโรงเรียน ดังนั้น ทั้งสองส่วนจึงต้องสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนไปด้วยกัน   สำหรับการเมืองถ้าสังคมผลักดันให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ในอนาคตควรให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายด้านการศึกษาให้ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง   ที่สำคัญคนไทยอย่าเพิ่งหมดหวังเรื่องการปฏิรูป การปฏิรูปต้องใช้เวลา อย่าใจร้อน ต้องค่อยๆ ทำแต่ต้องทำอย่างมั่นคง 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด