ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๘/๒๕๖๐

image


            เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๘/๒๕๖๐ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ  นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา  เป็นประธานการประชุม ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ดร. สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  นายเฉลิมชนม์  แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา  เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์  เกตุทัต       

 

               ศาสตราจารย์กิตติคุณ  นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา กล่าวโดยสรุปว่า  คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ร่วมรับฟังความคิดเห็นและประสบการณ์จากที่ต่างๆ  ซึ่งวันนี้คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้นำเสนอโครงการโรงเรียนประชารัฐให้ที่ประชุมรับทราบ  โครงการประชารัฐถือเป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่มาช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศ  เอกชนนำประสบการณ์ในการบริหารจัดการ  เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาโรงเรียน นำบุคลากรรุ่นใหม่ของบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารมาร่วมคิดพัฒนาโรงเรียนกับผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นการช่วยพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนดิจิตอล โดยขั้นต้นมีการสนับสนุนวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  มีการอบรมบุคลากร และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน   การจะทำให้โครงการเช่นนี้อยู่ยั่งยืนต้องสร้างจิตสาธารณะ คนในชุมชนมีบทบาทในการช่วยเหลือพัฒนาโรงเรียน  ปัญหาปัจจุบันของการศึกษา คือ คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ สังคมต้องมีบทบาทในการส่งเสริมและลงทุนการศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ก็ยังเป็นบทบาทหน้าที่ที่รัฐยังต้องช่วยเหลือ ความเสมอภาคไม่ใช่ทุกอย่างทุกคนต้องได้เหมือนกันหมด แต่คือสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนพึ่งได้  นอกจากนี้วันนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมพิจารณาแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น ๔ ภูมิภาค  คือ ภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้  ทั้งยังแจ้งว่าพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีได้นัดหมายให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษา             


 นายศุภชัย  เจียรวนนท์  ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

         นำเสนอโครงการโรงเรียนประชารัฐ เป็นโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน  มีเจตจำนงในการแก้ปัญหา ในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพของคน และเพิ่มขีดศักยภาพในการแข่งขัน มีภารกิจในการสร้างเยาวชนที่สามารถดึงศักยภาพของตนออกมาให้สามารถเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ซึ่งขณะนี้มีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ๑๒ แห่ง  นำผู้นำรุ่นใหม่ที่สมัครใจทั้ง ๑๒ องค์กร ร่วมคิดร่วมวางแผนการพัฒนาร่วมกับโรงเรียน โดยมี ๑๐ ยุทธศาสตร์ ที่ใช้ในการยกระดับและพัฒนาการจัดการศึกษาไทยตามมาตรฐานสากล เช่น มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน   มีการพัฒนาระบบดิจิตอล วางโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการสร้างผู้นำ พัฒนาบุคลากร  ให้ทุนในการฝึกงาน ส่งเสริมภาษาอังกฤษ  ฯลฯ โรงเรียนสามารถเสนอโครงการพัฒนาโรงเรียนและหากผ่านการพิจารณาก็จะได้เงินทุนในการสนับสนุนทำโครงการ ขณะนี้โครงการดำเนินการมาได้ ๑ปี  มีโรงเรียนในโครงการแล้ว ๓,๓๔๒ โรง แต่เป้าหมายคือ จะดำเนินการให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ ๗,๒๔๒ โรง

 

        สิ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนต่อไปซึ่งจะเป็นปัจจัยความสำเร็จ คือ  การบริหารข้อมูลนักเรียน  เพื่อให้ทราบสภาพภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน ต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่อง   ทั้งนี้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน วัด  นักเรียนได้เรียนรู้จากผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้ปฏิบัติจริง โรงเรียนมีส่วนแก้ปัญหาของชุมชน  มีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ความต้องการในชุมชน  และขยายผลโดยดึงภาคสังคมระดับท้องถิ่นมาร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น  ส่งเสริมสร้างผู้นำ รวมทั้งสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน


 
 
 

 

 
 
 
 



ท่านสามารถดูภาพบรรยาการได้ที่


image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด