สกศ. เดินหน้าขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ให้ความสนใจล้นหลาม

image


         วันนี้ (๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐) หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาเป็นประธาน เปิดการประชุมแถลง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ กับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ ๔.๐” ซึ่งจัดโดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เสวนา เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ สู่การปฏิบัติ” ร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอีสานตอนกลาง โดยมี ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องตักสิลาบอลรูม โรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ มีผู้บริหาร ข้าราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และสื่อมวลชน ฯลฯ เข้าร่วมประชุมกว่า ๘๐๐ คน

 

 

 

 

          หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวโดยสรุปว่า  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เริ่มขับเคลื่อนแผนการศึกษาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ทุกคนจึงถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้แผนการศึกษาแห่งชาตินำสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้  ในการพัฒนาเด็กเยาวชนนั้น ผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี วางตัวให้เหมาะสม ต้องรักกัน ไม่แบ่งแยก เด็กและเยาวชนจะได้มีต้นแบบที่ดี ควรให้เด็กมีความรู้ภาษาต่างประเทศ เพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาด้านภาษาไปมาก  ทั้งต้องน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ และเน้นเรื่องโรงเรียนคุณธรรม ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ ทั้งในเรื่องของความพอเพียง  ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ กตัญญู และความมีคุณธรรมจริยธรรม   เพื่อให้ลูกหลานเยาวชนเป็นอนาคตของชาติที่สามารถสร้างสังคมที่มีคุณภาพ
 

 
          ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวโดยสรุปว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙  เป็นแผนที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีลักษณะเด่น ๓ ประการ คือ ๑) เป็นครั้งแรกที่เป็นแผน ๒๐ ปี ๒) เป็นแผนทุกช่วงวัย ในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นแผนการศึกษาในวัยเรียน เช่น ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา  แต่แผนนี้เป็นแผนตลอดชีวิต  มีทั้งวัยเรียน วัยแรงงาน รวมถึงผู้สูงอายุ ๓) มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุด มีการรับฟังความคิดเห็นมากที่สุด มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยถึง ๑๑ กระทรวง รวมถึงมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครจะทำอะไร  แผนฯ มุ่งผลที่จะเกิดภายในไม่เกิน ๒๐ ปี ข้างหน้า โดยหวังให้ประเทศไทยมีสังคมที่เป็นสังคมอุดมปัญญา  สร้างคนที่สามารถนำพาประเทศพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา  รายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อยากเห็นคะแนน PISA ในระดับ ๕๐๐ กว่าๆ  มหาวิทยาลัยติด ๒๐๐ อันดับแรกของโลกหลายๆ มหาวิทยาลัย  โรงเรียนสอนสะเต็มศึกษา ๙๐ %  เพิ่มจากปัจจุบันที่สอนอยู่ ๑๐ % ฯลฯ  ขณะนี้จึงต้องสร้างคนให้พร้อมเป็นคนไทย ๔.๐ สามารถพัฒนาการผลิตสมัยใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ 

 
          แผนการศึกษาฉบับนี้ มีเป้าหมายสำคัญ คือ ๑) การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ๒) ความเท่าเทียมทางการศึกษา ๓) คุณภาพการศึกษา ๔) ประสิทธิภาพ  รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล  ประชารัฐเข้ามามีส่วนร่วม และ ๕) ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง  ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑  การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ  เช่น จังหวัดที่อยู่ใกล้ชายแดนควรมีการปรับการศึกษาให้เข้ากับบริบท เช่น  มุกดาหาร นอกจากเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ควรเรียนจีน เวียดนามด้วย หรืออยู่เบตงก็มีสอนภาษาอาหรับ มลายู เป็นต้น แต่ละพื้นที่จัดแตกต่างกันตามความต้องการของพื้นที่ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  มหาวิทยาลัยต้องช่วยสร้างความเป็นเลิศเฉพาะด้านให้เด็กรองรับ s curve ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา เรื่องนี้ยังเป็นจุดอ่อนที่สุด จึงต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาค ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าสู่การศึกษาได้มากที่สุด  เมื่อหลุดจากระบบแล้วจะกลับมาอย่างไร เพราะการศึกษาสามารถทำให้คนพัฒนาตนเอง ยกระดับตนเองได้ ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา ซึ่งแต่ละภาคส่วนต่างมีบทบาทสำคัญทั้งภาครัฐ โรงเรียน ครู ที่ต้องทุ่มเทพัฒนานักเรียนอย่างเต็มความสามารถ ผู้เรียนต้องพัฒนาตนเอง  มีความรับผิดชอบ ผู้ปกครอง  ช่วยดูแลบุตรหลาน ไม่โยนภาระให้โรงเรียนฝ่ายเดียว เอกชน ที่ควรสนับสนุนการผลิต สื่อมวลชน เผยแพร่สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพราะสื่อดีชี้คุณภาพประเทศเช่นกัน  สำหรับภาคอีสานถือเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาของประเทศ มีผู้รู้มากกมายในภาคอีสาน ซึ่งควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอย่างอุดมมาต่อยอดพัฒนาประเทศ

     ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติไม่สามารถสำเร็จได้จากกระทรวงศึกษาธิการหรือเลขาธิการ แต่สำเร็จได้จากการร่วมมือกันทำในทุกภาคส่วน  ปรัชญาการศึกษา คือ การศึกษาสำหรับทุกคน การศึกษาไม่ใช่เรื่องของเด็กหรือ  นักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมไทย  แนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งคือ  Inclusive  education การศึกษาที่มีคุณภาพ เข้าถึงทุกคน เท่าเทียมกัน จะนำไปสู่สังคมที่ดี  สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขในปัจจุบันคือเรื่องของการเหลื่อมล้ำ และวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือการศึกษา ประเทศจะพัฒนาก็ด้วยปัจจัยที่สำคัญคือการศึกษาและการเมือง  ประเทศไทยมีงบทางการศึกษามาก แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงต้องสร้างธรรมมาธิบาลในสถานศึกษา ลดความสูญเปล่าทางการศึกษา คิดบนหลักการช่วยเหลือผู้ที่สมควรช่วยเหลือ มีกองทุนที่ช่วยเหลือให้คนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาให้ประเทศก้าวหน้า และยึดในเศรษฐกิจพอเพียง สมเหตุสมผล  สมดุล

 
          รศ.ดร. กิตติชัย  ไตรรัตนศิริชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวโดยสรุปว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก จึงมีเขียนไว้หลายประเด็น โดยเฉพาะเน้นให้ความสำคัญกับเด็กเล็ก ซึ่งในหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กมาก เพราะเป็นช่วงที่สมองเด็กพัฒนามากที่สุดในด้านบทบาทของมหาวิทยาลัยถือเป็นส่วนสำคัญเพราะสามารถเป็นผู้ผลิตนักศึกษาที่จะสามารถไปช่วยเหลือชุมชนและเป็นผู้ผลิตป้อนตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ มหาวิทยาลัยยังสามารถส่งเสริมการศึกษาระดับอื่น เช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้  มหาวิทยาลัยก็สามารถมีส่วนช่วยเรื่องแหล่งเรียนรู้ได้ เช่น ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแหล่งเรียนรู้มาก ได้แก่ มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ฯลฯ จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ โดยให้นักศึกษาเป็นวิทยากรบรรยายและมีการสอนทดลองทางเคมีง่ายๆ ให้นักเรียนด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังสามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อทำให้ฐานข้อมูลสัมฤทธิผลอีกด้วย

          นายธวัชชัย  โคตรวงษ์  ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  สาขาภาคอีสานตอนกลาง กล่าวโดยสรุปว่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย และบริษัทเอกชนหลายแห่งต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้อาชีวศึกษา  เมื่อเรียนจบแล้ว ยังให้ทุนตั้งบริษัทและมีการส่งงานให้ด้วย พร้อมยังการันตีเงินเดือนหอการค้า สภาอุตสาหกรรมก็พร้อมสนับสนุน หากภาคเอชนต้องการคนแบบไหน นักศึกษาแบบไหน  สำหรับภาคอีสานในแต่ละท้องถิ่นมีผลิตผลและภูมิปัญญาที่สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่า สามารถส่งออกได้อีกมาก นอกจากนี้มีผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่สนใจมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ไทยจึงต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อมรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เสียโอกาส

          สำหรับการประชุมในช่วงบ่ายนั้นมีการระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ สู่การปฏิบัติ โดยแบ่งเป็น ๔ ห้องย่อย ได้แก่ ๑) ปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒) อาชีวศึกษาและการศึกษา/การฝึกอบรมสำหรับวัยแรงงาน ๓) อุดมศึกษาและการพัฒนานวัตกรรม และ ๔) แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา และผู้สูงวัย

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด