สภาการศึกษาเสวนาการศึกษาสำหรับผู้สุงอายุ

image


                     วันนี้ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา  เป็นประธานเปิดการประชุมสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๑๗  เรื่อง “การศึกษาสำหรับผู้สุงอายุ” ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร  โดยมีวิทยากร ๓ ท่าน เป็นผู้นำเสนอ คือ ๑) ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์  ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ๒)นายประยุทธ  หลักคำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กลุ่มเป้าหมาย สำนักงานกศน.  และ ๓)นายนราธิป  สุภาราญ  รองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลหนองลาน จังหวัดกาญจนบุรี (โรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ) โดยมีนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษาเป็นผู้ดำเนินรายการ

 
   
 



                     ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ และมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติแผน เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา แผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๒๐ ปี จึงต้องสอดคล้องกับการศึกษาตลอด ๕ ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิด ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา วัยแรงงาน จนกระทั่งวัยสูงอายุ ทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยทั้งสิ้น ดังนั้น สกศ. จึงต้องเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ ๓ ของแผนฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาผู้สูงอายุ โดยการพัฒาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

 
   



                     ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีหน้าที่จัดการศึกษา โดยมอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นแกนกลางทำหน้าที่ดูแลการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ และการกำหนดหลักสูตร โดยที่หลักสูตรต้องมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และความต้องการของแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เกิด Active Ageing คือการเป็นผู้สูงอายุที่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้เต็มกำลังความสามารถ



                     ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์  ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย นำเสนองานวิจัยเรื่องการถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้  ซึ่งสาเหตุในการศึกษาเนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสสังคมมีการเผยแพร่ข้อมูลโรงเรียนผู้สูงอายุอย่างกว้างขวาง และปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก จึงต้องการศึกษาคุณลักษณะของโรงเรียนผู้สูงอายุว่าควรเป็นอย่างไร  ควรมีหลักสูตรและกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพอย่างไร  สำหรับผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็นวัยต้น (๖๐-๖๙ ปี) วัยกลาง (๗๐-๗๙ ปี) และวัยปลาย (๘๐-๘๙ ปี) ทั้งนี้การศึกษาจะมุ่งที่ผู้สูงอายุวัยต้น สำหรับแนวคิดในการพัฒนาผู้สูงอายุวัยต้นของทั่วโลกจะมุ่งพัฒนาให้เป็นผู้มีศักยภาพใน ๓ ด้าน คือ ๑) สุขภาพ ๒) การมีส่วนร่วม และ ๓) ความมั่งคง ซึ่งในการวิจัยเก็บข้อมูลจากโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบจำวน  ๙ โรง จากทั่วประเทศ  จากการศึกษาพบว่ารูปแบบการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุมีหลายรูปแบบ ทั้งก่อตั้งโดย อปท.  มหาวิทยาลัย  โรงพยาบาล วัด และ กศน.  ผู้เรียนมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป  มีระดับการศึกษาและอาชีพ ฐานะหลากหลาย การเรียนมีตั้งแต่ ๒๕ – ๓๑๐ ต่อห้องเรียน รูปแบบการจัดการศึกษายังไม่ชัดเจนว่าเป็นการศึกษานอกระบบ ในระบบหรือตามอัธยาศัย จึงสรุปนิยามของโรงเรียนผู้สูงอายุว่า คือ ลักษณะกิจกรรมที่สถาบัน หน่วยงานหรือชุมชนจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุผ่านการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบที่ผู้สูงอายุเรียนรู้อย่างสนุกสนานรื่นเริง 

 
   
 


                     จากการถอดบทเรียนพบว่าดัชนีทักษะการเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ คือ ดูแลตนเองได้  พึ่งตนเองได้  ทำในสิ่งที่ปรารถนาได้ตามศักยภาพของตน ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและสังคม  เตรียมพร้อมสำหรับ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  สามารถสร้างสุขภาวะทางกายและจิต มีชีวิตยืนยาว  ตระหนักในคุณภาพชีวิตที่ดี  พัฒนาความสามารถทางสังคมและเศรษฐกิจ  สามารถควบคุมตนเอง  และพึงพอใจในชีวิต  ส่วนหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ คือ เรียนในเรื่องที่ต้องรู้  ควรรู้ และอยากรู้ ซึ่งทีมวิจัยได้จัดชุดความรู้การพัฒนาเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ไว้จำนวน ๙๖ ชั่วโมง ประกอบด้วยความรู้ที่ต้องรู้ ร้อยละ ๕๐ ใช้เวลาสอน ๔๘ ชั่วโมง  ความรู้ที่ควรรู้ ร้อยละ ๓๐ ใช้เวลาสอน ๒๘ ชั่วโมง และความรู้ที่อยากรู้ ร้อยละ ๒๐ ใช้เวลาสอน ๒๐ ชั่วโมง   สำหรับเทคนิคการสอนที่สำคัญ คือ ผู้สูงอายุต้องมีส่วนร่วมและเรียนเฉพาะสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์  นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังต้องการเวลาเรียนรู้มากกว่าปกติ   สำหรับปัญหาและอุปสรรคของการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ คือ มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ  ขาดสถานที่เรียนที่เหมาะสม ไม่สามารถจัดการสอนได้ตามตารางสอน ขาดผู้สอน ขาดความรู้ในเนื้อหาที่สอน ผู้สอนขาดทักษะในการสอนที่ดึงดูดความสนใจของผู้สูงอายุ  และมีการศึกษาดูงานจำนวนมากทำให้ผู้เรียนไม่ได้เรียนเท่าที่ควร  นอกจากนี้ควรมีการต่อยอดพัฒนาชุดความรู้ที่ใช้สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ  สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาต่อไป



                     นายประยุทธ  หลักคำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กลุ่มเป้าหมายพิเศษ สำนักงาน กศน.  กล่าวโดยสรุปว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง  ผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มที่ติดสังคม กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง  ปัจจุบันจึงมีจัดทำโครงการเพื่อผู้สูงอายุ ๒ โครงการ คือ ๑) การจัดการศึกษาเสริมสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ และ ๒) การจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุ  ซึ่งในการดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุมีการจัดตั้งคณะบูรณาการที่ร่วมมือระหว่าง ๖ กระทรวง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงแรงงาน  กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงศึกษาธิการ  กับ ๒ หน่วยงาน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้ง ๖ กระทรวงและ ๒ หน่วยงานจับมือดำเนินงานโครงการผลิตบุคลากรดูแลผู้สูงอายุ โดยเลือกใช้หลักสูตรของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็น ๒ หลักสูตร คือ หลักสูตร ๗๐ ชั่วโมงและหลักสูตร ๔๒๐ ชั่วโมง โดยคณะบูรณาการฯ มีข้อตกลงว่าต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการให้ทุกจังหวัดมีหลักสูตร ๗๐ ชั่วโมง  เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ  แต่สำหรับหลักสูตร ๔๒๐ ชั่วโมงไม่ได้บังคับ การจัดแล้วแต่ความพร้อม  จากการดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ คณะบูรณาการฯ มีเป้าหมายให้ผลิต ๗๘ กลุ่ม ผลิตได้จริง ๑๔ กลุ่ม แต่หลักสูตร ๗๐ ชั่วโมง ผลิตได้ ๓๖๕ กลุ่ม และพบว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ผู้จบการศึกษาได้งานทำร้อยละ ๘๐

 
 
   
   




                     สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ แนวทางในการจัดจะเน้น ๓ เรื่องหลัก คือ ๑. “กาย” เช่น อาหาร โภชนาการ  ฝึกอาชีพ  การดูแลตนเองเบื้องต้น  โรคที่เกิดกับผู้สูงอายุ กายบริหาร ฯลฯ  ๒.  “จิต” เช่น การศึกษาธรรมะ  สนทนาธรรมตามศาสนาที่นับถือ  และ ๓. “สมอง” เช่น เกม กิจกรรมพัฒนาสมอง เป็นต้น   

 

                     นายนราธิป  สุภาราญ  รองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลหนองลาน จังหวัดกาญจนบุรี (โรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ)  กล่าวโดยสรุปว่า กระบวนการขับเคลื่อนของสถาบันพัฒนาชุมชน (บวร) ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลตำบลหนองลาน  อำเภอท่ามะกา  จังหวัดกาญจนบุรี มีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ผู้สูงอายุมีความสุขกาย สุขใจ ไม่เป็นภาระกับทางบ้าน ดูแลตัวเองได้ ไม่คิดสั้น  จึงมีการส่งเสริมอาชีพดูแลร่างกาย  สร้างความสุขสำหรับผู้สูงอายุ โดยปฐมเหตุในการจัดตั้งมาจากสถานการณ์ที่สังคมมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  แรงบันดาลใจของทีมงานที่ต้องการให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีเสียงหัวเราะ ประกอบกับบทบาทหน้าที่ตามพรบ. และโอกาสที่ได้ไปศึกษาดูงานที่ อบต.หัวง้ม อ. พาน จ. เชียงราย โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้การดำเนินงานสำเร็จ คือ นโยบายของรัฐที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง  มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ กล้านำการเปลี่ยนแปลง  มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่เป็นปัจจุบัน และมีภาคเครือข่าย มีความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ข้าราชการ ชุมชน  สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาล ตำบลหนองลาน มี ๔ ด้าน คือ  ๑) ความมั่นคงในชีวิต  ๒) การศึกษาการเรียนรู้  ๓) การเศรษฐกิจ มีรายได้ และ  ๔) การสังคมที่ช่วยเหลือพึ่งพากัน  โดยใช้ชุดวิชาความรู้การพัฒนาผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ๓ ชุด ๙๖ ชั่วโมง คือ ๑) ความรู้ที่ต้องรู้ ๒) ความรู้ที่ควรรู้ และ ๓) ความรู้ที่อยากรู้

 
 
 
 
 
 


สามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด