สกศ.จับมือแพทย์ศิริราช จัดงาน ๑๕๐ ปีชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)

image

 

 

          เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา และนายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมงานปาฐกถา ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ตอน จรรยาแพทย์  ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น ๑ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานและกล่าวสดุดีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

 
 
   
   
 
 


    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานปาฐกถา ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีขึ้นเพื่อต้องการให้ชนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณงามความดีของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีในฐานะที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นับเป็นคนไทยลำดับที่ ๒๗ ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ซึ่งในปี ๒๕๖๐ นี้ เป็นปีครบรอบ ๑๕๐ ปี ที่ท่านได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีบทบาทด้านการศึกษาไทยในสมัยรัตนโกสินทร์

 
 

 

   
   
 
 
 
   
   
 
   
   
 
   
   
 
 
   
 


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ได้ก่อหิตานุหิตะประโยชน์ใหญ่หลวงแก่วงการศึกษา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการกราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๔๑ ให้แบ่งระดับการศึกษาสยามให้สอดคล้องกับนานาอารยะ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับมูลศึกษา ประถมศึกษา มัชฌิชศึกษา ปัจฉิมศึกษา และศึกษาพิเศษ อันเป็นที่มาของการจัดทำโครงแผนการศึกษาในกรุงสยามของกรมศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งเป็นแผนการศึกษาฉบับแรกของประเทศไทย นอกจากนี้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้มีส่วนก่อรากฐานอุดมศึกษาในสยาม ด้วยเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน และกำกับดูแล รวมทั้งสอนที่โรงเรียนราชแพทยาลัยเมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นหนึ่งในปัญญาชนทางการศึกษาของชาติที่สอดคล้องกับอารยประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษาสมัยใหม่ เพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์ด้วยการบ่มเพาะความเป็นชาตินิยม ภายหลังการยึดครองของจักรวรรดิตะวันตก เป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกคนในชาติ เพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นเองภายในประเทศ มิได้เกิดจากดำริหรือนโยบายของเจ้าอาณานิคมดังที่ปรากฏในภูมิภาคต่างๆ และผลงานของท่านมีมากมาย อาธิ กำหนดให้เพลงสรรเสริญพระบารมีมีเพียงเนื้อร้องเดียวเหมือนกันหมดไม่แยกชายหญิง การจัดทำหลักสูตรโรงเรียนเบญจมบพิตร ประพันธ์เพลงสามัคคีชุมนุมเป็นคำร้องภาษาไทย และได้แต่งหนังสือสมบัติของผู้ดี ทั้งนี้งานดังกล่าวมีผู้บริหารศิริราช คณาจารย์ ผู้ได้รับทุนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาแพทย์  ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า ๖๐๐ คน

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด