รมว.ศธ. มอบนโยบายและแนวทางการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัย

image

 

                          เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเรื่อง “บทบาทและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง เพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติ” พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ และ ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุมกว่า ๑๐๐ คน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
 

 
 


                        นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริ¬ญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมเรื่อง “บทบาทและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง เพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติ” ตอนหนึ่งว่า ได้หารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาการปฐมวัย เพื่อวางกรอบแนวทางบูรณาการความเข้าใจแนวทางการดำเนินการระหว่างกระทรวงหลัก เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้นกว่า ๓๐ หน่วยงาน ให้เกิดความชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้ รองรับการศึกษาภาคบังคับที่มีผลบังคับเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ใช่แค่บูรณาการกันในกระดาษเท่านั้น

 
 


                        ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายน่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะการสร้างรูปแบบกลไกที่ชัดเจนในการบูรณาการ โดยให้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ซึ่งมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน ให้ทำหน้าที่เจ้าภาพขับเคลื่อนหลักและกำกับดูแลมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัยของทุกหน่วยงาน
 

   
   


                        ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนเด็กปฐมวัยที่อยู่ในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาเอกชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สะท้อนอัตราการเข้าถึงเด็กอยู่ในเกณฑ์ดี และเด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ข้อมูลเด็กเล็กวัย ๐ – ๓ ขวบ มีเพียงไม่เกินร้อยละ ๑๐ ที่ยังไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งทาง สกศ. สรุปตัวเลขมีเด็กประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน อยู่ในระบบการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจำนวนนี้ ๖๐,๐๐๐ คน ระดับอนุบาล และอีก ๔๓๐,๐๐๐ คน อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยกระทรวงศึกษาธิการเน้นพัฒนาการจัดการศึกษา และปรับรูปแบบการพัฒนาเด็ก พร้อมเร่งการจัดการศึกษาเพิ่มเติมระดับอนุบาล และปรับเพิ่มงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวอย่างเหมาะสม สร้างการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกระดับในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ
 

 
 
 

                         ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะ “สำนักงานเลขานุการ” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๕๑ และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ซึ่งมี รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ ประสานงานและบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน การเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างครบวงจร การประชุมเรื่อง “บทบาทและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง เพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติ” ถือว่ามีความสำคัญมาก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า ๓๐ หน่วยงาน ร่วมกันพิจารณาใน ๒ ประเด็น ได้แก่ ๑) หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ๒) วิธีการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต่อไปนี้เด็กเล็กต้องได้รับการพัฒนา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง คือ เด็กที่อายุตั้งแต่ ๓ ขวบ ทั้งนี้ สกศ. พร้อมเป็นหน่วยงานกลางในการประงานทุกหน่วยงานเพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อน ๒ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) ประเด็นระบบบริหารจัดการ ซึ่ง สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการควรเข้ามาดูแลภาพรวมฐานข้อมูลเด็กเล็กทั้งระบบ เพื่อประสานข้อมูลไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดช่วยตรวจสอบข้อมูล รวมถึงกำหนดผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาในพื้นที่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความพร้อมควรมอบท้องถิ่นดำเนินการ ส่วนสกนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรเสริมในพื้นที่ขาดแคลน ไม่ซ้ำซ้อนกัน และควรยึดตามความพึงพอใจของคนในพื้นที่ พร้อมจัดสรรทรัพยากรอื่น ๆ เช่น งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัว เป็นต้น ๒) ประเด็นเชิงวิชาการ หรือเชิงคุณภาพ สกศ. เสนอให้มีรูปแบบการพัฒนาเด็กเล็ก ๓ โมเดล ได้แก่ ๑) เรียนในสถานศึกษา หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๒) วางหลักสูตรการเรียนการสอนที่บ้าน และ ๓) การศึกษารูปแบบอื่น ๆ  ทั้งนี้ ในการให้เด็กได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม จึงต้องมีการพัฒนาครู มีสื่อหลักสูตรการเรียนการสอน
 

 
   
 
 


                         นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “การบูรณาการการดำเนินงานจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของกระทรวง/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ซึ่งผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักวิชาการด้านพัฒนาการปฐมวัย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมิติต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และ สกศ. จะเร่งสรุปแนวทางการบูรณาการเพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติให้แล้วเสร็จภายใน ๑ เดือน เพื่อรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายดูแลเด็กปฐมวัยต่อไป
 

 
 
   





สามารถดูภาพบรรยาการได้ที่

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด