รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานเปิดการประชุมสัมมนาการส่งเสริม และประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและจัดทำกฎหมายการศึกษาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๕ ภาคกลาง

image

          วันที่ ๑๕ - ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง การส่งเสริมและประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและจัดทำกฎหมายการศึกษาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๕ ภาคกลาง ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) ประธานเปิดการประชุม รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์) กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้บริหารสำนักเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย    จำนวน ๒๕๐ คน ร่วมสัมมนา ณ โรงแรมอยุธยาแกรนด์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 
   
   
   

 

          โอกาสนี้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ๗ ทศวรรษด้านการศึกษา ใต้ร่มพระบารมี ความสำคัญตอนหนึ่งว่า ทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับภูมิภาคในอนาคตมีความสำคัญสูงต่อการพัฒนาและยกระดับการศึกษาเชิงพื้นที่ ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานการศึกษาระดับจังหวัด ถือว่าเป็นงานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนาคนไทยแห่งอนาคตศตวรรษที่ ๒๑ ดังนั้น ตั้งแต่ ผวจ. ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ลงไปถึงผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องช่วยกันดูแลเด็กดูแลอนาคต ของชาติอย่างใกล้ชิด ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนงาน กศจ. ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะมีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาและยกระดับการศึกษาในพื้นที่ สอนให้เด็กรักท้องถิ่น รักหมู่บ้าน รักตำบล รักอำเภอ รักจังหวัด และรักประเทศชาติ

 

 
   
   
   

          หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อน กศจ. เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการพัฒนาและยกระดับการศึกษาทุกจังหวัดคือคำตอบการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคต และตลอด ๗๐ ปี แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ศาสตร์พระราชา สอนให้ครูรักศิษย์ ศิษย์รักครู ล้วนเป็นคำสั่งสอนให้ทุกรักประเทศไทย แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น ขอให้ชาวกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกระทรวงพระราชทานที่อยู่ในพระราชหฤทัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕  และ สกศ. ขับเคลื่อนเดินหน้าแผนการศึกษาชาติ ระยะ ๒๐ ปี ไม่ต้องไปสนใจเรื่องอื่น โดยใช้กลไก กศจ. เสริมสร้างการพัฒนาและยกระดับการศึกษาทั่วประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและช่วยกันคิดวิเคราะห์แปลงยุทธศาสตร์การศึกษาสู่การปฏิบัติ       

          ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา บรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ว่า ภายหลัง ครม. ให้ความเห็นชอบแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ พร้อมได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งทาง สกศ. จะได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ อีกครั้ง เพื่อปรับรายละเอียดบางประเด็นในแผนให้เกิดความสมบูรณ์และเกิดผลกระทบในวงกว้างยิ่งขึ้น เช่น เป้าหมายบางตัว และดัชนีชี้วัดบางตัว โดยดำเนินการระยะเร่งด่วน ปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๑ จากนั้นวางกรอบดำเนินงาน ๔ ระยะ ระยะละ ๕ ปีคือ ช่วงแรก ปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ ช่วงที่ ๒ ปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙ ช่วงที่ ๓ ปี ๒๕๗๐ - ๒๕๗๔ และช่วงสุดท้าย ปี ๒๕๗๕ - ๒๕๗๙

 
   
   


          ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๒๐ ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจน เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง 
          ทั้งนี้ ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดการศึกษาเพื่อความมั่งคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษายุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา
          รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวย้ำว่า ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อตอบโจทย์บริบทความเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ ๒๑ และสอดรับทิศทางประเทศไทย ๔.๐ ประการสำคัญคือ ผู้จบการศึกษาทุกระดับต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวการจัดการศึกษา ไม่ใช่สะดวกเปิดหลักสูตรสาขาใดก็ได้แต่เด็กจบออกมาแล้วไม่มีงานทำ กระบวนการบริหารสัดส่วนผู้จบการศึกษาจึงต้องสอดรับการมีงานทำ และยกระดับพัฒนาสมรรถนะกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ จึงสามารถพัฒนาประเทศได้และผลักดันแผนการศึกษาชาติ ระยะ ๒๐ ปี   สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนการศึกษาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาการศึกษา ระยะ ๕ ปี แผนปฏิบัติราชการ ระยะ ๔ ปี และแผนปฏิบัติการประจำปีของทุกหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปรับปรุงกฎ ระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในระดับต่าง ๆ และสร้างช่องทางให้ประชาสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งระดับนโยบายและพื้นที่
          ทั้งนี้ ในการอภิปราย เรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... จากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ดำเนินรายการโดย นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สกศ.
          นายกิตติรัตน์ มังคละศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า แนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ยึดตามกรอบแนวทางด้านการศึกษา ซึ่งได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เน้นสร้างความมีวินัยของคนไทยตั้งแต่เด็ก และคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาทุกคน หัวใจสำคัญเริ่มจากมาตรา ๔๐ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๔ มาตรา ๒๕๘ ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติแล้ว หากจะปรับแก้กฎหมายต้องมีมาตรการรองรับการแก้ไขปัญหาการศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้น จึงเกิดความต่อเนื่องต่อกระบวนการพัฒนาการศึกษาชาติ
          นายอาทร ทองสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า แนวทางกฎหมายการศึกษา ควรกำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละช่วงตั้งแต่ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา โดยยึดตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เช่น มาตรา ๕๔ ซึ่งระบุให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา และสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพของครู รวมทั้งเติมเต็มในการบังคับใช้กฎหมายด้านการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จึงต้องปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง สร้างความเชื่อมโยงกับกฎหมายด้านการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างเอกภาพการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป้าหมายใหญ่คือ การดึงท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ รวมทั้งการผลิตและพัฒนาครูและการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาอย่างเต็มตัว
          นายวีระ พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาการศึกษา ควรเน้นการสร้างอาชีพใหม่ ๆ รองรับทิศทางประเทศไทย ๔.๐ และปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของอนาคต โดยเฉพาะการจัดการศึกษาที่จะมีเด็กน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำลงทุกปี ดังนั้น กฎหมายการศึกษาต้องหันมาสนใจการจัดการศึกษาของคนไทยตลอดชีวิต และผสมผสานองค์ความรู้ต่าง ๆ มาต่อยอดการพัฒนาการเรียนรู้ของคนไทย เช่น ประยุกต์ศาสตร์พระราชา ฝึกให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว นำมาปรับใช้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศ
          นายอารักษ์ พัฒนถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคตคือ การยกระดับและพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนโดย กศจ. ศธภ. และ ศธจ. ดังนั้น การร่างกฎหมายการศึกษา ควรเน้นการกำกับ ควบคุม และประเมินผลการศึกษาในทุกระดับ

 
   
   
   
   
   
   


          ภายหลังสิ้นสุดการประชุมเสวนา ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน และปิดการประชุม อย่างไรก็ตาม สกศ. จะได้สรุปความคิดเห็นกฎหมายการศึกษา ๓ ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....  ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติปฐมวัย  พ.ศ. .... จากการเดินสายสัมมนา ๔ ภูมิภาค และที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สรุปแนวทางที่เป็นประโยชน์ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายด้านการศึกษาตามลำดับต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด